วัดธรรมาภิรตาราม
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
"นำธรรมเผยแผ่ ดูแลพระพุทธศาสนา"
ประวัติเจ้าอาวาส
ประวัติสังเขป
พระครูโกศลธรรมคุณ
ชาติภูมิ
พระครูโกศลธรรมคุณ (สำลี สิริกาญฺจโน) ปัจจุบัน อายุ ๘๕ ปี พรรษา ๖๒ นามเดิมว่า สำลี ศรีโพนทอง เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๘๐ ที่บ้านเลขที่ ๔๓ หมู่ ๒ บ้านแจนแลน ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพ่อใคร แม่กอง ศรีโพนทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน และเกิดที่บ้านเลขที่เดียวกันข้างต้นทั้งหมด ดังนี้
๑. นางจันใบ ศรีโพนทอง
๒. นางทองใส ศรีโพนทอง
๓. นางสีฟอง ศรีโพนทอง
๔. พระครูโกศลธรรมคุณ
๕. นายเถนือ ศรีโพนทอง
๖. นางสีเครือ ศรีโพนทอง
๗. นายมงคล ศรีโพนทอง
๘. นายพยนต์ศักดิ์ ศรีโพนทอง
๙. ด.ญ.เสียชีวิต (อายุประมาณ ๓ ขวบ ยังไม่ได้ตั้งชื่อ)
ชีวิตในเบื้องต้น
เนื่องจากพ่อแม่เป็นเกษตรกรฐานะยากจน ลูกทุกคนจึงต้องช่วยพ่อแม่ทำนา พระครูโกศลธรรมคุณต้องช่วยพ่อแม่ทำนาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ สภาพพื้นดินเกือบทุกปีแล้งจัด ดินแข็งมากต้องใช้จอบขุดดินแทนคราด เพื่อปักกล้าแล้วท่านต้องไปแบกน้ำในบ่อใส่ถังมารดต้นกล้า แต่ทั้งปีส่วนใหญ่แล้วทำนาได้ข้าวไม่พอกินกันทั้งครอบครัว ต้องนึ่งฟักทองกับกลอยกินแทนข้าว บางวันพ่อแม่ช่วยกันไปจับปลา ปู ใส่กระบุงมาเต็มกระบุงแต่ไม่ได้เอามาเป็นอาหารให้ลูกกินต้องเอาไปแลกข้าวเปลือกมาให้ลูกกิน พอโตขึ้นชีวิตลูกๆ ส่วนใหญ่จึงแต่งงานมีครอบครัวกับเกษตรกรต่างหมู่บ้านด้วยกัน และมีความรู้น้อยมากไม่เกินชั้น ป.๔ พอแยกครอบครัวมีลูกแล้วลูกผู้หญิงและสามีเสียชีวิตหมดคงเหลือแต่ลูกผู้ชาย และแยกย้ายกันไปทำมาหากินในที่ต่างๆ ดังนี้
บุตรคนที่ ๑ – ๓, คนที่ ๖ และสามีเสียชีวิตหมดแล้วเหลือแต่บุตร ปัจจุบันอยู่ที่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
บุตรคนที่ ๕ นายเถนือ กับ ภรรยา อาชีพเกษตรกร มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลบ้านแจนแลน ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
บุตรคนที่ ๗ นายมงคล อาชีพเกษตรกร ส่วนภรรยา เสียชีวิตแล้ว มีบุตรด้วยกัน ๒ คน ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลบ้านแจนแลน ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
บุตรคนที่ ๘ นายพยนต์ศักดิ์ และ ภรรยา อาชีพ อดีตลูกจ้างธนาคาร ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเกษียณอายุแล้วทั้ง ๒ คน และมีบุตรด้วยกัน ๒ คน
การศึกษา บรรพชา อุปสมบท
พระครูโกศลธรรมคุณ เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้น ป.เตรียม เมื่ออายุ ๗ ปี ที่โรงเรียนแจนแลนราษฎร์บำรุง ตำบลแจนแลน
อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
พ.ศ.๒๔๙๓ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนแจนแลนราษฎร์บำรุง ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์
จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่ออายุ ๑๓ ปี
พ.ศ.๒๔๙๕ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๕ ปี ณ วัดแจนแลนใต้ ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
พ.ศ.๒๔๙๗ ย้ายไปจำวัดที่วัดบ้านหนองยอ ตำบลจิกดู่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ.๒๔๙๙ ย้ายไปจำวัดที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๕๐๒ วันจันทร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม เวลา ๐๙.๐๐ น. อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมา วัดธรรมาภิรตาราม แขวงถนน
นครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยพระพุทธิวงศาจารย์ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร เป็นพระ อุปัชฌาย์ พระมหาคำจันทร์ กิตฺติสาโร วัดธรรมาภิรตาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระเล็ก ปวโร วัดธรรมาภิรตา
ราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสิริธรรมวิมล และ
เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม)
พ.ศ.๒๕๐๔ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร และมิได้ศึกษาต่ออีก
พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หน้าที่พิเศษ
จากการที่พระครูโกศลธรรมคุณ เป็นพระที่ขยันขันแข็ง เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้ใหญ่ที่สอนสั่ง และไม่เกี่ยงงานเมื่อถูกใช้สอย จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระเลขาของพระครูธรรมานุกูล เจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม ในขณะนั้น และได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือกิจการของวัดอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งพระครูโกศลธรรมคุณก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเพียร วิริยะ อุตสาหะ ทุกตำแหน่งแม้จะเป็นเวลาค่ำคืน พระครูโกศลธรรมคุณจึงมีความเจริญรุ่งเรืองในทางสงฆ์ตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นพระเลขาของพระครูธรรมานุกูล เจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นผู้กำกับดูแลคณะกุฏี ๙ คณะกุฏี ๑๐ และคณะกุฏี ๑๑
พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดธรรมาภิรตาราม พร้อมกับพระครูสิริธรรมวิมล
พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นพระเลขาของพระครูสิริธรรมวิมล ซึ่งได้รับสมณศักดิ์เป็นเจ้าอาวาส
วัดธรรมาภิรตาราม แทนพระครูธรรมานุกูลที่มรณภาพ
สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ในราชทินนามที่ พระครูโกศลธรรมคุณ
พ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูโกศลธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตารามแทนพระครูสิริธรรมวิมล
ที่มรณภาพ
พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรีในราชทินนามเดิม (ปรับพัดยศ)
พ.ศ.๒๕๕๒ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม
๒๕๕๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระครูโกศลธรรมคุณ เป็นพระครูสัญญาบัตร
เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโทในราชทินนามเดิม
งานการศึกษา
พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม วัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นครูใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นรองผู้อำนวยโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (พอ.สส.) วัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (พอ.สส.) วัดธรรมาภิรตาราม
(ปัจจุบันโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ได้ปิดลงแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๕)
พ.ศ.๒๕๕๖ - ปัจจุบัน เป็นประธานสนามสอบ ธรรมสนามหลวง สนามสอบธรรมศึกษา โรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม
งานศึกษาสงเคราะห์
พ.ศ.๒๕๔๔-ปัจจุบัน ตั้งทุนระดับมัธยมศึกษาชื่อ
“ทุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนชั้นมัธยมวัดธรรมาภิรตาราม”
พ.ศ.๒๕๔๖-ปัจจุบัน ได้แจกทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนแจนแลนราษฎร์บำรุง
ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
พ.ศ.๒๕๔๖-ปัจจุบัน ได้แจกทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองฟ้าเลื่อน
อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
พ.ศ.๒๕๕๐-ปัจจุบัน แจกทุนนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
งานเผยแผ่
๑. มีการจัดตารางกิจกรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดปี เริ่มตั้งแต่ สวดมนต์ข้ามปี วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา ฯลฯ
๒. มีการอบรมพระภิกษุ - สามเณร เช่น มีการอบรมฝึกการเทศน์ทุกวันอาทิตย์และวันพระ ๘ ค่ำ โดยจัดตั้งเป็นชมรมฝึกการพูด (เทศน์) วัดธรรมาภิรตารามขึ้น ส่วนสามเณรมีการอบรมพิเศษทุกๆ วันพระอุโบสถตลอดปี และมีศิษย์วัดเข้าอบรมเป็นครั้งคราว
๓. ในช่วงพรรษามีการอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนโดย มีการเทศน์หรือปาฐกถาธรรมทุกวันตลอดไตรมาสที่ศาลาการเปรียญชั้นบน เวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป
๔. ในช่วงนอกพรรษามีการเทศน์หรือปาฐกถาธรรมทุกวันพระตลอดทั้งปีและมีการทำวัตรสวดมนต์เย็นทุกวันที่ศาลาการเปรียญชั้นบน ตั้งแต่เวลา ๑๘.๓๐ น. เป็นต้นไป
๕. มีกิจกรรมอบรมเกี่ยวกับการเผยแผ่ คือ ได้ส่งพระภิกษุ - สามเณร ภายในวัดออกไปเผยแผ่ศีลธรรมจริยธรรมตามโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม เป็นต้น และหน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศและในวันสำคัญของทางราชการในสถานที่ราชการต่างๆ
งานสาธารณูปการ
พ.ศ.๒๕๔๖ ได้ดำเนินการจ้างช่างจิตรกรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร
พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ดำเนินการจ้างช่างจิตรกรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ
พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ดำเนินการก่อสร้างกุฏีธรรมโกศล ๓ ชั้น
พ.ศ.๒๕๔๙ ได้ดำเนินการก่อสร้างซุ้มประตูด้านหน้าวัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการก่อสร้างรั้วแสตนเลสรอบอุโบสถและวิหาร วัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลเจ้าโพธิสัตว์แม่กวนอิม
พ.ศ.๒๕๕๓ ได้ดำเนินการสร้างหลังคาโดมเอนกประสงค์ (หน้าเมรุ)
พ.ศ.๒๕๖๓ ได้ดำเนินการทำบุญเผาศพไร้ญาติ (ล้างป่าช้า) บางศพเก็บไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ขาดการติดต่อไม่มีหลักฐานใดๆ
พ.ศ.๒๕๖๓ ก่อสร้างติดตั้งเตาเผาฌาปนกิจใหม่ปลอดมลพิษคุณภาพสูงทดแทนเตาเผาเดิมซึ่งชำรุดซ่อมไม่คุ้มค่าใช้จ่าย
พ.ศ.๒๕๖๓ ติดตั้งกล้องวงจรปิดยี่ห้อ Hikvision โดยบริษัท ยูนิเทค กรุ๊ป ขนาด ๘ ล้านพิกเซล จำนวน ๒๔ ตัว และขนาด ๑๒ ล้านพิกเซล จำนวน ๑ ตัว รวม ๒๕ ตัว ทั่วบริเวณวัด
พ.ศ.๒๕๖๔ จ้างทำลายกนกประดับเมรุกับบริษัท ศศิอัลลอย สแตนเลส แอน เฮ้าส์ จำกัด ประดับเมรุวัดทั้ง ๔ ด้าน
พ.ศ.๒๕๖๔ จัดซื้อถังดับเพลิงอิมพิเรียล บรรจุอัดเคมี 15 ปอนด์ จำนวน 30 ถังไว้ประจำศาสถนานและกุฏิต่างๆ
พ.ศ.๒๕๖๕ ซ่อมแซมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวพร้อมเปลี่ยนกรอบเ เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์และกรอบที่พระราชทานให้กับวัดและเก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาสองค์ก่อน ๆ เกือบ ๑๕๐ ปี สีหลุดล่อนและชำรุด โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร จนมีสภาพดีใกล้เคียงของเดิม
พ.ศ.๒๕๖๖ ออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ๑-๒ โดยจ้างสถาปนิกออกแบบ
พ.ศ.๒๕๖๖ จัดทำขาตั้งไม้เนื้อแข็งอย่างดีวางโฉนดที่ดินวัดธรรมาภิรตาราม สมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนนได้ชื่นชม และเห็นโฉนดที่ดินประวัติศาสตร์
การปฏิสังขรณ์
เนื่องจากในยุคของเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ ได้จัดสร้างทั้งโบสถ์ วิหาร ศาลา กุฏี อาคาร โรงเรียนพระปริยัติธรรม เมรุ สำนักงานฌาปนสถาน กำแพง หอระฆัง จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์และวิหาร ไว้ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น ในยุคของพระครูโกศลธรรมคุณ จึงได้แต่ดูแลปฏิสังขรณ์ ทั้งโบสถ์ วิหาร ศาลา ที่ชำรุดบางส่วน รวมถึงการดูแลบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ที่พุทธศาสนิกชนบริจาคทำบุญแต่ละปีต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
พ.ศ.๒๕๔๘ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเมรุ
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญและศาลาบำเพ็ญกุศล
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถ
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมวิหาร
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโรงเรียนพระปริยัติธรรม
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมกุฎีสงฆ์วัดธรรมาภิรตาราม
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมหอระฆัง
พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมใต้พระอุโบสถให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญลอดใต้อุโบสถ
พ.ศ.๒๕๖๒ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมหลังคาศาลาการเปรียญ
พ.ศ.๒๕๖๓ ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมบริเวณรอบเมรุไปพร้อมกับการสร้างและติดตั้งเตาเผาฌาปนกิจใหม่
พ.ศ.๒๕๖๓ พระภิกษุร่วมมือกันบูรณะทาสีช่องบรรจุอัฐิบุพการีและบรรพบุรุษที่พุทธศาสนิกชนมาเก็บไว้ที่กำแพงรอบวัด
พ.ศ.๒๕๖๖ ปฏิสังขรณ์โครงสร้างหลังคา เปลี่ยนฝ้า ระบบไฟฟ้า อนุสรณ์กุฎิพระครูธรรมานุกูล
พ.ศ.๒๕๖๖ ปฏิสังขรณ์กุฏิ ๓ จำนวน ๓ ห้อง และโถงทางเดินทางเดินชั้น ๒
พระผู้ให้และพัฒนาไม่สิ้นสุด
จากการที่พระครูโกศลธรรมคุณดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม รูปที่ ๗ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๖๓) เป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี อายุของท่าน ๘๓ ปีแล้วก็ตาม แต่ท่านยังเป็นพระภิกษุที่คิดอ่านทันสมัย กล้าคิดกล้าทำ ท่านผ่านความยากลำบากมาตั้งแต่เด็ก แม้แต่อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดธรรมาภิรตารามเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๒ แล้วก็ตาม ชีวิตพระก็ลำเค็ญไม่แพ้ตอนเป็นฆราวาส ความยากลำบากก็ยังเหมือนเดิมเพราะยุคนั้น บริเวณรอบวัดยังไม่มีบ้านผู้คนอาศัย การบิณฑบาตต้องเดินออกบิณฑบาตระยะทางไกล บ้านที่อยู่อาศัยแต่ละบ้านก็อยู่ห่างกันมาก ดังนั้น บางวันอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตไม่พอฉัน พระครูโกศลธรรมคุณ ต้องให้ลูกศิษย์ไปซื้อปลาทูนึ่งเข่งละ ๒ ตัว ตัวที่ ๑ นำมาต้มใส่มะดัน ส่วนอีก ๑ ตัว ตำป่นใส่พริกมะนาวมาฉันประทังความหิว ส่วนการไปสวดศพสมัยนั้นต้องไปสวดที่บ้านของเจ้าของงาน ต้องเดินไประยะทางไกลและสวดเสร็จต้องอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพจนถึงประมาณ ๒๒.๐๐ น. จึงจะได้เดินกลับวัดกว่าจะถึงวัดก็เกือบ ๒๔.๐๐ น. การคมนาคมไม่สะดวกปัจจัยที่ได้รับก็น้อยมาก แต่จากชีวิตฆราวาสตั้งแต่เด็กท่านยากจนแร้นแค้นต้องใช้ความอดทนสูงพระครูโกศลธรรมคุณจึงนำมาใช้ในสภาวะพระภิกษุได้เป็นอย่างดี แต่จากบทเรียนต่างๆ นี้ท่านจึงนำมาสอนพระลูกวัดเสมอให้ประหยัดอดทน สิ่งใดไม่ควรทิ้งก็ให้เก็บไว้ วัดธรรมาภิรตารามไม่ใช้แต่นำไปให้วัดอื่นใช้ประโยชน์ได้แม้แต่หลังคาโบสถ์ที่หมดอายุแล้วเมื่อรื้อลงมาท่านยังให้เอาไปบริจาคเพื่อให้ผู้รับนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือสิ่งใดที่ชำรุดใช้ไม่ได้จริงๆ ท่านจึงจะสั่งให้ทิ้ง นอกจากนี้เครื่องอัฐบริขาร สบง จีวร ธูปเทียน อาหารแห้ง ที่ญาติโยมทำบุญ ท่านจะเก็บจัดใส่กล่องกระดาษเป็นหมวดหมู่เองแล้วประมาณ ๑ เดือน ท่านจะเช่ารถตู้นำไปแจกให้กับวัดและประชาชนในชนบทที่ขาดแคลนด้วยตัวของท่านเอง ท่านเป็นพระผู้ให้และไม่เคยลืมความยากลำบาก ท่านจะย้ำเสมอให้พระที่เจอคนพิการให้ช่วยเหลือเพราะเขาพิการแต่กายแต่จิตใจเขาไม่ได้พิการ
การศึกษาของท่านก็ไม่ต่อเนื่องหลังจากที่ท่านสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว ท่านเล่าว่าไม่สามารถไปเรียนต่อได้เพราะการเดินทางด้วยรถเมล์ไปวัดเบญจมบพิตรไม่สะดวก รถเมล์คนแน่น มีน้อย ไม่มีใครเปิดทางให้พระภิกษุขึ้นรถเมล์ ท่านต้องเดินจากวัดไปเรียนที่วัดเบญจมบพิตรเป็นส่วนใหญ่ ระยะทางไปกลับประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ประกอบกับท่านมีภารกิจสงฆ์มากขึ้นด้วยท่านจึงยุติการเรียนต่อ แม้แต่ปัจจุบันจะมีญาติโยมถวายรถตู้ให้วัดใช้ ท่านก็ปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของวัดที่จะต้องจ้างคนขับรถและซ่อมแซมบำรุงรักษาตลอดจนภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ท่านจึงสนับสนุนพระภิกษุสามเณรบุตรหลานของประชาชนผู้ยากไร้ ให้ได้รับการศึกษาที่สูงๆ ด้วยทุนทรัพย์ที่ท่านรับบริจาคมา โดยท่านบริจาคเงินส่วนตัวตั้งเป็นกองทุนการศึกษาในลักษณะบริหารแบบสหกรณ์ครู โดยให้หลานและคณะครูโรงเรียนแจนแลนราษฎร์บำรุง บริหารจัดการ เพื่อนำดอกผลมาเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนแจนแลนราษฎร์บำรุง และโรงเรียนบ้านหนองฟ้าเลื่อน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ท่านเป็นตัวอย่างของพระภิกษุที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดท่านจะลงทำวัตรทุกวันโดยไม่ขาด เว้นแต่มีภารกิจสงฆ์หรืออาพาธเมื่อวัดจัดงานประจำปีจึงมีญาติโยมพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญตลอด ๗ วัน อย่างมากมาย โดยพุทธศาสนิกชนจะขนานนามท่านว่า “พระผู้มีศีลหอม” และได้ปัจจัยทำบุญแต่ละปีเป็นจำนวนมาก นี่แหละท่านเป็นพระผู้ให้และมีศีลหอมอย่างแท้จริง ท่านจะนำปัจจัยที่ท่านได้รับจากการทำบุญ ทำบุญคืนกลับให้กับวัดในรูปของค่าน้ำค่าไฟฟ้าและบริจาคให้มูลนิธิโกศลธรรมคุณ เพื่อไว้ช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรอาพาธ เป็นทุนการศึกษาพระปริยัติธรรมทุกเดือน ท่านเป็นพระผู้ไม่สะสมจากการที่ท่านเคยเป็นลูกชาวนาที่ยากจนท่านจึงเก็บของทำบุญที่พุทธศาสนิกชนไปทำบุญต่อ แม้แต่มรดกที่ท่านได้รับจากบิดามารดาท่านก็นำมาทำบุญสร้างซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ โบสถ์ วิหาร ของวัดธรรมาภิรตาราม โดยชักชวนญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญเพื่ออุทิศกุศลให้บุพพการี และบรรพบุรุษ
ท่านเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูงกับบุคคลที่ยากแค้นเพราะจากการที่ท่านเคยเป็นบุตรชาวนายากจน ท่านจึงเข้าใจในวิถีชีวิตของคนยากจน ซึ่งทางวัดได้จัดพื้นที่เฉพาะช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ ๒๑.๐๐ น. จนถึง ๐๙.๐๐ น. เช้า โดยไม่รบกวนการทำกิจสงฆ์ของวัดและพระภิกษุสามเณรแต่อย่างใด เพื่อให้พ่อค้าแม่ขาย จากเขต กทม. และปริมณฑล ได้นำอาหารสดแห้งมาวางจำหน่าย โดยคิดค่าเช่าพื้นที่ถูกมาก โดยมีผู้จัดการตลาดบริหารจัดการ แยกออกจากวัดโดยเด็ดขาด โดยมีการจัดระเบียบตลาดและขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ให้เป็นตลาดที่มีมาตรฐานในเรื่องความสะอาดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พ่อค้าแม่ขายทำผิดระเบียบของ กทม. ซึ่งวัดได้ช่วยเหลือพ่อค้าแม่ขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านก็ยังดูแลต่อ เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้มีรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว
ท่านกล้าทำกล้าคิดแม้จะวัย ๘๓ ปีแล้วก็ตาม แต่ท่านยังแข็งแรงสติปัญญาเฉียบแหลมท่านจึงนำประสบการณ์ความยากลำบากตั้งแต่เด็ก บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ปัญหาอุปสรรคความยากลำบากต่างๆ ที่สะสมมาจนถึงปัจจุบัน มาเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านคิดพัฒนาวัด ช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและประชาชนทุกเพศวัย ที่ประสบความเดือดร้อนต่างๆ โดยแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น ๒ ส่วน (๒ นิติบุคคล) ดังนี้
ส่วนที่ ๑ งานบริหารจัดการวัดธรรมาภิรตาราม โดยกระจายอำนาจของเจ้าอาวาสตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และเป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติของมหาเถรสมาคม และตามแนวทางการพัฒนาวัดสู่ความเป็นมาตรฐานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด ท่านได้จัดทำระเบียบ คำสั่ง เจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม จำนวน ๙๙ หน้า โดยมีการประชุมคณะสงฆ์ ให้พระภิกษุสามเณรทุกรูปเข้าประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นเมื่อไม่มีการคัดค้านใดๆ ท่านจึงดำเนินการจัดทำดังกล่าวและแจกให้พระภิกษุสามเณรทุกรูปๆละ ๑ เล่ม ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยแบ่งงานทั้งหมดออกเป็น ๓ ฝ่ายแล้วให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระเถระรวม ๓ รูป ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย (โดยให้คัดสรรกันเอง) โดยมีพระภิกษุสามเณร ๔๐ รูป ช่วยบริหารจัดการและดำรงตำแหน่งประจำฝ่ายครบทุกฝ่ายตามความรู้ความสามารถที่ตนเองถนัด โดยให้แต่ละฝ่ายพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุประจำฝ่ายกันเองตั้งแต่รองหัวหน้าฝ่าย เหรัญญิก การเงิน เลขานุการ สำหรับพระภิกษุที่ชราภาพหรือมีปัญหาด้านสุขภาพก็ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำฝ่ายแต่ละฝ่าย เพื่อให้คำแนะนำในเชิงบริหารจัดการกับฝ่ายที่ตนเองสังกัด ดังนั้น ระเบียบ คำสั่งเจ้าอาวาส ดังกล่าวจึงเป็นการกระจายอำนาจ ให้พระภิกษุสามเณรช่วยกันทำงานให้วัดและเจ้าอาวาส ครอบคลุมทุกด้านแล้วให้แต่ละฝ่ายไปบริหารจัดการ นำข้อเสนอผลการทำงาน ปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการมานำเสนอต่อคณะสงฆ์ โดยหัวหน้าฝ่ายเป็นผู้นำเสนอเป็นประจำทุกเดือน เจ้าอาวาสซึ่งเป็นประธานคณะสงฆ์เป็นผู้รับทราบและร่วมพิจารณาบริหารจัดการตามมาตรฐานที่กำหนด โดยไม่ต้องลงไปทำงานทุกเรื่องด้วยตนเอง จึงทำให้การบริหารจัดการทันเหตุการณ์และพระภิกษุสามเณรทุกรูปได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้วัดไม่เสียเปรียบ การจัดซื้อจัดจ้างทรัพย์สินของใช้ ซ่อมแซมโบสถ์ วิหาร เมรุ กุฏี ฯลฯ ต้องผ่านการเปรียบเทียบต่อรองราคาทั้งแบบพิเศษ แบบประกวดราคา การทำสัญญาต้องใช้สัญญาของวัดเป็นหลัก เพื่อไม่ให้วัดเสียเปรียบ นอกจากนี้การจัดซื้อจัดหาประกันภัย หรือสิ่งอื่นใดที่วัดยังไม่เคยจัดซื้อจัดหามาก่อน หรือทางวัดขาดประสบการณ์ในสิ่งนั้นๆ วัดจะเชิญคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือ ศึกษาข้อมูล จัดทำรายละเอียดเปรียบเทียบผลได้ผลเสีย ความคุ้มค่าก่อนแล้วจึงนำเสนอให้คณะสงฆ์พิจารณา นอกจากนี้ยังมีระเบียบว่าด้วยบัญชีการเงินโดยมีมาตรฐานสากล มีการจัดทำบัญชีงบแสดงฐานะการเงินโดยบริษัททางด้านบัญชีและผู้สอบบัญชีขึ้นทะเบียนโดยเฉพาะ เพื่อให้คณะสงฆ์ได้รับทราบความเคลื่อนไหวงบแสดงฐานะการเงินของวัดทุกเดือน และจะได้ควบคุมสถานะรายจ่ายให้เป็นไปตามงบประมาณที่วัดมี ไม่ใช้จ่ายเกินตัวหรือสุรุยสุร่ายและทำให้พุทธศาสนิกชนผู้บริจาค ทำบุญด้วยความมั่นใจเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาว่าทางวัดได้นำเงินทำบุญมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์อย่างคุ้มค่า แต่ในระยะเริ่มแรกพระภิกษุผู้ดูแลรับผิดชอบยังจะต้องเรียนรู้ จึงค่อยดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีคฤหัสถ์ช่วยเหลือประคับประคองไปก่อน
ส่วนที่ ๒ ฟื้นฟูมูลนิธิเพื่อช่วยงานสาธารณสงเคราะห์ จากการที่พระครูโกศลธรรมคุณ ได้ดำเนินการช่วยเหลือวัด พระภิกษุ สามเณร ประชาชนทั่วไปที่ยากไร้ ขัดสน ในถิ่นทุรกันดาร มาตลอดต่อเนื่องตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นต้นมาโดยไม่ขาด โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ได้บริจาคทรัพย์ในการบูรณะศาลาการเปรียญวัดหัวคุ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท อำนวยความสะดวกให้แก่โรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม สังกัดกรุงเทพมหานคร ในการใช้สถานที่ของวัดเป็นสถานศึกษาและจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนมาโดยตลอด อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สถานที่ของวัดในการบำเพ็ญกุศลต่างๆ นั้น พระครูโกศลธรรมคุณได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการขับเคลื่อนโดยให้วัดซึ่งทำหน้าที่หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปช่วยสาธารณสงเคราะห์นั้น ไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่และไม่คล่องตัว ประกอบกับท่านมีความห่วงใยพระภิกษุสามเณรซึ่งแต่ละรูปมีฐานเก็บออมจากปัจจัยที่ได้รับบริจาคไม่เท่ากัน หากอาพาธกะทันหันเกรงว่าจะขาดปัจจัยในการรักษาพยาบาล หรือพระภิกษุสามเณรที่เรียนพระปริยัติธรรมยังขาดแคลนปัจจัยสนับสนุน ประกอบกับยังมีประชาชนทุกเพศวัยอีกมากที่เจ็บป่วยยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษาพยาบาลหรือขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะสนับสนุนบุตรหลานให้ได้เล่าเรียนเป็นพลเมืองดีของประเทศได้ ประกอบกับท่านเคยเป็นพระลูกวัดมาก่อนและทราบว่ามีการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาสมัยพระครูสิริธรรมวิมลเป็นเจ้าอาวาส หลายสิบปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ท่านจึงได้หารือกับลูกศิษย์นายไพโรจน์ ตัณฑิกุลที่รู้จักดี และเคยบวชเรียนที่วัดธรรมาภิรตารามมาก่อน ท่านจึงขอความร่วมมือนายไพโรจน์ ตัณฑิกุลให้ช่วยฟื้นฟูมูลนิธิขึ้นมา ดังนั้น จากการดำริของท่านจึงได้มีการฟื้นฟูมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม (ม.ธม.) ขึ้นมาใหม่ โดยขออำนาจศาลแพ่งจนได้รับการจดทะเบียนคณะกรรมการมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม ชุดใหม่เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ และมติคณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้งท่านพระครูโกศลธรรมคุณดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิโกศลธรรมคุณ เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านที่ฟื้นฟูมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือสาธารณสงเคราะห์ ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร ที่อาพาธ อุปการะเมื่อคราวจำเป็น เป็นทุนการศึกษาพระปริยัติธรรม และทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนวัดธรรมาภิรตาราม ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และช่วยเหลือวัด ประชาชนทุกเพศทุกวัยทั่วประเทศที่ยากไร้ เจ็บป่วย พิการ ขาดแคลนทุนทรัพย์ มูลนิธิได้ดำเนินการช่วยเหลือ วัด พระภิกษุ สามเณร ประชาชน ทุกเพศทุกวัย ดังนี้
พ.ศ.๒๕๖๑ (สิงหาคม-ธันวาคม)
- ได้ฟื้นฟูมูลนิธิสำเร็จเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
- จัดทำระเบียบช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรอาพาธ อุปการะเมื่อคราวจำเป็น สนับสนุนทุนการศึกษาพระปริยัติธรรม ระเบียบว่าด้วยบัญชีการเงิน ระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการทั่วไปและช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนวัดธรรมาภิรตารามที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ระเบียบว่าด้วยการยืมเงินทดรอง ระเบียบว่าด้วยการคัดสรรบุคคล นิติบุคคล มาช่วยงานมูลนิธิ
- ปรับเพิ่มระบบการบริจาคเงินทำบุญเป็นระบบ คิวอาร์สาธุ ผู้บริจาคสามารถบริจาคเงินทำบุญให้กับมูลนิธิได้ด้วยมือถือโดยการสแกนคิวอาร์เท่านั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้บริจาค
- ระเบียบกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีเป็นมาตรฐานโดยบริษัทบัญชีทุกเดือนเพื่อให้ระบบการเงินของมูลนิธิ สามารถตรวจสอบความโปร่งใส และทุกสิ้นปีต้องให้มีการรับรองงบบัญชีการเงิน โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และจัดส่งให้นายทะเบียน กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญอย่างเชื่อมั่นและสนิทใจ
พ.ศ.๒๕๖๒ (มกราคม-ธันวาคม)
- เป็นเจ้าภาพช่วยงานสวดพระอภิธรรมพระภิกษุวัดธรรมาภิรตารามที่มรณภาพ
- ตรวจสุขภาพพระภิกษุสามเณรทุกรูปโดยโรงพยาบาลชั้นนำในราคาลดพิเศษโดยมูลนิธิรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นการปกป้องคุ้มครองพระภิกษุสามเณรของวัดให้มีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรคตั้งแต่เริ่มเป็น ไม่ให้อาพาธกะทันหันโดยไม่รู้ตัว
- อบรม พัฒนา ศักยภาพ พระภิกษุสามเณรของวัดธรรมาภิรตาราม โดยพระวิทยากรชั้นนำ
- จัดแจกันดอกไม้เยี่ยมไข้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพระภิกษุที่อาพาธ โดยกรรมการและอาสาสมัคร
- จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์มูลนิธิและวัดธรรมาภิรตารามแก่พุทธศาสนิกชนต่อเนื่องตลอดปี
- บริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนที่เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือผู้อื่นจนตัวเองถูกแก๊สระเบิดใส่จนตาบอด ร่างกายพิการตลอดชีวิต
- บริจาคเงินช่วยเหลือวัดพระบาทน้ำพุที่ขาดแคลนปัจจัยเลี้ยงคนป่วยโรคเอดส์
- บริจาคเงินช่วยเหลืออุทกภัยร้ายแรงที่ทำความเสียหายอย่างมากแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านคุณบิณฑ์ บรรณลือฤิทธิ์
- ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ (ใกล้เคียงวัด) เพื่อส่งรถพยาบาลมารับพระภิกษุสามเณรที่อาพาธกะทันหันใน ๒๔ ชม.
- บริจาคเงินช่วยเหลือซ่อมแซมเมรุให้กับวัดจังหวัดนครนายก ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนวัดธรรมาภิรตารามที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนอนุบาลจังหวัดเชียงใหม่ที่บ้านประสบอัคคีภัยบิดามารดาพี่ชายเสียชีวิตทั้งหมด
- บริจาคปัจจัยทำบุญวันสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรอาพาธโรงพยาบาลสงฆ์
- บริจาคเงินช่วยเหลือค่ายา อาหารเหลว แก่สำนักสงฆ์จังหวัดนครราชสีมาที่ช่วยเหลือพักฟื้นพระภิกษุอาพาธ
- สนับสนุนทุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุวัดธรรมาภิรตาราม
- บริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนจังหวัดนครราชสีมาที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องถูกตัดขา หยุดการประกอบอาชีพ ขาดรายได้เลี้ยงดูบุตรภรรยา
- มอบประกาศเกียรติคุณยกย่อง เชิญชู พระภิกษุวัดธรรมาภิรตารามผู้ประกอบคุณความดี
พ.ศ.๒๕๖๓ (มกราคม-ธันวาคม)
- ช่วยเหลือโครงการสานสัมพันธ์วันเด็กปี ๒๕๖๓ แก่เด็กนักเรียนจังหวัดมหาสารคาม
- ร่วมบริจาคเงินซื้อที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ถวายวัดในจังหวัดปัตตานี ซึ่งจำเป็นต้องขยายพื้นที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๔๒ ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินอยู่กลางชุมชนชาวไทยพุทธ เพื่อช่วยธำรงพระพุทธศาสนาจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี
- ซื้อถังออกซิเจนช่วยเหลือต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่
- บริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนจังหวัดน่านที่พิการทางสมองป่วยติดเตียงพูดและจำความไม่ได้ ภรรยาทอดทิ้ง มารดาเสียชีวิตกะทันหัน
- ช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนชายที่จังหวัดตรัง ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ต้องช่วยมารดาเก็บขยะขายวันต่อวันเพื่อเลี้ยงน้อง ๕ คน บิดามารดารวม ๗ คน บางวันไม่ได้ไปเรียนหนังสือ
- ช่วยเหลือประชาชน จังหวัด กทม. บ้านถูกไฟไหม้ทรัพย์สินเสียหายหมด ภรรยาป่วยติดเตียงหามหนีไฟจนขาหักและรับภาระเลี้ยงดูหลานวัยศึกษาอีก ๑ คน
- ช่วยเหลือครอบครัวอาชีพรับจ้างเก็บของเก่าโดยทำมาหากิน ๑ คน เพื่อเลี้ยงครอบครัว ๗ คน ได้แก่สามี บิดา มารดา ลูก หลานซึ่งแต่ละคนป่วย บางคนพิการติดเตียง ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
- ช่วยเหลือครอบครัวแม่ค้าขายผลไม้จังหวัดเชียงใหม่มีลูก ๔ คน ถูกรถชนเสียชีวิต สามีติดคุก ลูก ๔ คนขาดผู้อุปการะและไม่มีทุนการศึกษา
- ร่วมกับวัดธรรมาภิรตาราม ตั้งแต่เดือน มีนาคม-พฤษภษาคม ๒๕๖๓ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 ระบาด โดยจัดทำโรงทานเคลื่อนที่และที่วัด แจกอาหารกล่องเครื่องดื่มจำนวน ๖ พื้นที่กว่า ๒,๘๐๐ ราย
- ช่วยเหลือเกษตรกรปลูกมันสัมปะหลังและขายโรตีไข่โดยทำมาหากินเพียง ๑ คน เพื่อเลี้ยงดูคน ๔ คน ได้แก่ บิดามารดาป่วยติดเตียงและสามีป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัด นครสวรรค์
- ช่วยเหลือครอบครัวนางสาวอมรวรรณ บริรักษ์ กทม.
- ช่วยเหลืออุบาสิกาสุพิน ผูกพันธ์ วัดธรรมาภิรตาราม กทม. ป่วยติดเตียงจากเบาหวาน ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษาพยาบาล
- ช่วยเหลือครอบครัวนายคำมูล-นางกมลวรรณ เจริญศิริ และลูกสาวพิการทั้งครอบครัว ขายล็อตเตอรี่เลี้ยงครอบครัว ขายแคลนทุนทรัพย์
- ช่วยเหลือครอบครัว นางสาวฐิตินันท์ บุญแก้ว จ.พิจิตร พิการถูกรถชน แต่ไม่ย่อถ้อสู้ชีวิตใช้ปากคาบพู่กันวาดรูปภาพหาเงินเลี้ยงยายและน้อง
- ช่วยเหลือ น.ส.วรรณอนงค์ ศรีเรืองโห้ อดีตผู้ช่วยพนักงานธุรการ ธ.ก.ส. สาขาวัดโบสถ์ สนจ.พิษณุโลก ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองติดเตียงต้องมีคนดูแล 24 ชม
พ.ศ.๒๕๖๔ (มกราคม-ธันวาคม)
- บริจาคเงินสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช ๑๓๐ ปี ๑๓๐ โครงการ ทำงานเพื่อแผ่นดิน
- ช่วยเหลือครอบครัวนายจิรายุทธ สว่างใจ อายุ ๑๖ ปี นักเรียนโรงเรียน จ.ปราจีนบุรี ต้องเรียนหนังสือและทำงานเพื่อเลี้ยงดูย่าชราเดินไม่ได้และน้องสาวกำลังเรียนอีก ๒ คน
-ช่วยเหลือครอบครัวนางยิ่งดี สมุติรัมย์ อายุ ๕๕ ปี จ.สระแก้ว อาชีพเก็บของเก่าและปลูกผักเพื่อเลี้ยงดูลูกพิการ ๒ คน และหลานกำลังศึกษา ๒ คน
- ให้ความช่วยเหลือนางจุฑามาศ บูชา (หม้าย) อายุ 61 อ.บางซื่อ กทม. ประสบอุบัติเหตุหกล้มสะโพกคด ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ บุตร ๒ คน รับภาระครอบครัวหนักไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
- ร่วมทำบุญถวายพระไตรปิฎกพร้อมตู้พระไตรปิฎก แด่วัดป่ากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จำนวน ๙ แห่ง ในปี ๒๕๖๔
- บริจาคเงินร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างกุฏิกรรมฐาน (ไม้/เดี่ยว) ณ ที่พักสงฆ์วัดป่าเอกาวนาราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก จำนวน ๒ หลัง
- ให้ความช่วยเหลือครอบครัวนายเทียนชัย ฉัตรธรรมกร อายุ 49 ปี จ.เชียงราย ตาบอด มีโรคประจำตัว แต่สู้ชีวิตเลี้ยงดูภรรยาและบุตรชายกำลังศึกษา ๒ คน
- ร่วมสร้างพระพุทธเมตตาชยันตีศรีโสภณอโยธยา หน้าตักกว้าง 19.99 เมตร ณ วัดบึงลัฏฐิวัน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
- ร่วมสร้างอุโบสถวัดมงคลรัตนาราม อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
- ให้ความช่วยเหลือนางเรณู ทองใหญ่ (อี๊ด) อายุ ๕๘ ปี จ.ราชบุรี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและขาเป็นกระดูกงอก อาชีพรับจ้างทำดอกโมบายได้เงินวันละ ๓๐ กว่าบาท ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกหลานที่เจ็บป่วยทุกคนและต้องพาไปหาหมอเดือนละ ๑๐-๑๕ ครั้ง
- บริจาคเงินให้มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลืองและแดง จำนวน 200 เตียง
- ให้การสนับสนุนเขตดุสิตที่ขอรับการสนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค เกมประเทืองสติปัญญา และของใช้จำเป็นให้กับเด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อโควิด-19 และเด็กถูกกักตัวที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เกียกกาย
- ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ตลอดปี วัดป่าเยรมณี อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
- ให้ความช่วยเหลือ น.ส.ลำใย กาเอื้อ จ.กำแพงเพชร ที่ทำงานก่อสร้างเพื่อเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี และบุตร ที่เจ็บป่วยทำงานไม่ได้
- ให้ความช่วยเหลือนายศักดิ์ชัย พันธุ์สุข จ.นครสวรรค์ อาชีพรับจ้างหาเงินเลี้ยงดูบุตรหลานและภรรยาด้วยขาข้างเดียว
- ให้ความช่วยเหลือ น.ส.อาทิตยา จันทร์ทอง (เอิร์น) จ.นครราชสีมา ที่เรียนหนังสือพร้อมกับทำงานรับจ้าง ขายอาหารคาวหวาน เพื่อเลี้ยงดูย่าที่ป่วย พ่อพิการ น้องชายกำลังเรียน
- ให้ความช่วยเหลือ น.ส.ขวัญฤทัย ชารีขันธ์ (เมย์) จ.นครสวรรค์ ขายอาหารคาวหวานเพื่อเลี้ยงดูมารดาขาพิการและน้องสาวพิการทางสติปัญญา
- บริจาคเงินสนับสนุนกองทุนภัตตาหารเพลสร้างศาสนทายาทเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมวัดหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
- บริจาคเงินเพื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ของวัดบ้านหนองกอก จ.ลำปาง งบประมาณก่อสร้าง 10,000,000 บาท เนื่องจากอุโบสถหลังเดิมทรุดตัวแตกร้าว คณะกรรมการ ม.กธ. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีพระภิกษุเพียง 2 รูปจำพรรษา ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย
พ.ศ.๒๕๖๕ (มกราคม-ธันวาคม)
- บริจาคเงินช่วยเหลือวัดพระบาทน้ำพุ ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ค่ารักษาผู้ป่วยเอดส์ เลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรผู้ติดเชื้อเอดส์
- ช่วยเหลือครอบครัว น.ส.รัตนา คล้ายโต (น้องนัท) จังหวัดนครสวรรค์ หารายได้จากการเผาถ่านและรับจ้างในวันหยุดเรียน เลี้ยงดูยายที่ป่วยเป็นมะเร็งช่องปากและซ่อมแซมบ้านที่ผุพัง
- ช่วยเหลือนายเริงศักดิ์ ทานวน จังหวัดสกลนคร ป่วยติดเตียงจากอุบัติเหตุ ภรรยาทิ้ง อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไม่มีรายได้ค่าอาหารประทังชีวิต
- ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคีสมทบทุนสร้างเมรุ ณ วัดคลองวัฒนา ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
- ร่วมสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ณ วัดพระธรรมจักร ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก
- ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่า “ปันน้ำใจสู่เด็กน้อยบนดอยสูงโรงเรียนบ้านบ่อหยวก ปี 2” อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
- ร่วมทำบุญงานพระราชทานเพลิงศพคุณพรพิมล คงอุดม ณ วัดมัชฌันติการาม แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กทม.
- ค่ากระเช้าเยี่ยมไข้ย้อนหลังแก่พระภิกษุ/คฤหัสถ์ วัดธรรมาภิรตาราม ที่อาพาธ/ป่วยจากการติดเชื้อโควิด 2019 และไม่ได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกัน จำนวน 3 ราย
- การให้ความช่วยเหลือนางประทุม (นิ่ม) นักทอง เกษตรกรสวนยางพารา บ้านโคกไก ต.โต๊ะเต็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เหยียบระเบิดผู้ก่อการร้ายขาขาดสองข้าง
- การให้ความช่วยเหลือนางวนิดา บุญเกตุ จ.สุโขทัย และครอบครัว บ้างผุพังไม่มีไฟฟ้าใช้มาหลายปีต้องจุดเทียนที่ขอจากวัดแทน เพื่อให้บุตรทำการบ้าน
- ให้ความช่วยเหลือยายสัมมา ฮุงหวน และครอบครัว รวม ๗ ชีวิต จ.สกลนคร ไฟไหม้บ้านและทรัพย์สินของใช้ไหม้หมดทั้งหลังเหลือแต่เสื้อผ้าติดตัวคนละชุดเท่านั้น
- บริจาคเงินร่วมสร้างอาคารศูนย์การแพทย์กาจนาภิเษก อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (ระยะที่ ๒) ศิริราชมูลนิธิฯ
- บริจาคเงินร่วมสร้างอุโบสถวัดไทยเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี รัฐอุตตร ประเทศอินเดีย
พ.ศ.๒๕๖๖ (มกราคม-ธันวาคม)
- มอบทุนการศึกษาพระปริยัติธรรมพระภิกษุที่สอบผ่านนักธรรมโท 2 รูป 1.) พระชัยณรงค์ ฉนฺทโก 2.) พระเสมอพร ชุติปญฺโญ
- ช่วยเหลือครอบครัว น.ส.ปรารถนา ศรีตระเวน (แม่ปุ้ย) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามีเสียชีวิตต้องรับจ้าง ซักผ้ารีดผ้า ปลูกผักขายหาเงินเลี้ยงดูบุตรชายพิการติดเตียงจากอุบัติเหตุ
- ร่วมบริจาคเงินมุงหลังคาอุโบสถวัดสระบานสนวน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพราะวัดก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2496 ยังไม่มีอุโบสถ ต้องไปอาศัยวัดข้างเคียงทำสังฆกรรม
- ช่วยเหลือครอบครัวนางนภาพรรณ สบายใจ(แม่เบ๊นซ์) และพ่อโจ้เขตหนองแขม กทม.ทำงานทุกอย่างหารายได้เลี้ยงดูลูก 2 คนตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและจิตเวชติดเตียง
- ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือวัดพระบาทน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี รักษาเลี้ยงดูผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ที่เสียชีวิต ให้การศึกษาเลี้ยงดูบุตรและเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้ติดเชื้อเอดส์ และเลี้ยงดูสรรพสัตว์ สุนัข แมว ลิงประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว
- ร่วมบริจาคเงินสร้างซุ้มประตูวัดท่ามะโอ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
- การให้ความช่วยเหลือนางสาวอัจฉรา ภาคแก้ว เขตบึงกุ่ม กทม. ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ น้ำท่วมปอด หัวใจโต และความดันโลหิตสูง ขาดแคลนค่ารักษาพยาบาล
- บริจาคเงินร่วมบุญสร้างห้องผ่าตัดและซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ กับโรงพยาบาลราชวิถี สาขา 2 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
- บริจาคเงินร่วมบุญใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์สร้างพระพุทธเจ้า 5 พระองค์กับวัดป่ามงคลธรรม อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
- บริจาคเงินช่วยเหลือนายสำราญ จันทร์ศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น และครอบครัว พิการขาข้างเดียวต้องเก็บขยะกับลูกชายที่สติไม่สมบูรณ์ นำขยะไปขายเลี้ยงดูภรรยาที่ป่วยติดเตียง บางครั้งต้องเก็บอาหารที่เหลือทิ้งมาอุ่นกิน
- บริจาคเงินร่วมสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยพระพิทักษ์สหโรคา อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี รักษาคนเพื่อรักษาธรรม (รักษาฟรี) เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางทรง 6 เหลี่ยม 6 ชั้น จำนวน 58 เตียง งบประมาณ 300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง เม.ย. 2566- ธ.ค. 2568 (2 ปี 8 เดือน)
- บริจาคเงินช่วยเหลือบ้านลุงสนิท อาสนะ ศูนย์ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ อายุ 46-94 ปี อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ จนวาระสุดท้าย จำนวน 106 คน
- การบริจาคเงินช่วยเหลือนางสาวรัตนา ศรีอรุณ (แม่น้ำฝน) จังหวัดสมุทรปราการ ขายห่อหมกด้วยรักของแม่ที่มีต่อลูกชายที่ป่วยเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อขาต้องฉายแสงให้คีโมทำให้กระเพราะปัสสาวะแตกมีเลือดปนปัสสาวะ ต้องดูแล 24 ชั่วโมง
- การบริจาคเงินช่วยเหลือนายสิทธิชัย สุขมั่น จังหวัดลพบุรี ป่วยมะเร็งก้นกบ ถูกผ่าตัดเหลือครึ่งตัว ขาดแคลนเงินรักษาพยาบาลและเลี้ยงดูบุตรและภรรยา