วัดธรรมาภิรตาราม
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
"นำธรรมเผยแผ่ ดูแลพระพุทธศาสนา"
ประวัติวัดธรรมาภิรตาราม
ที่ตั้งวัด
วัดธรรมาภิรตาราม(สะพานสูง) เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ติดกับกรมช่างอากาศ บางซื่อ โดยมีคลองบางซื่อเก่ากั้นกลางประตูทางเข้าวัดติดกับถนนเตชะวณิช ตำบลถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (ที่ตั้งวัด มีการเปลี่ยนแปลงสังกัดตำบลและอำเภออยู่หลายครั้ง คือเดิมเป็นตำบลลาดยาว อำเภอบางซื่อ เมื่อยุบอำเภอบางซื่อ เปลี่ยนเป็นตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต เมื่อตั้งอำเภอพญาไท เปลี่ยนเป็นตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต อยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงเปลี่ยนเป็นแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ดังปัจจุบัน)
เขตวัด
ทางด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เรียกว่าหน้าวัด เพราะมีพื้นที่จรดถนนเตชะวณิช มีตึกแถวของวัดและโรงเรียนกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ตลอดด้านในพื้นที่ของวัด โดยยาวเรียบไปตลอดตึกแถวของวัดประมาณ ๑๑๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกมีกำแพงก่ออิฐถือปูนตลอดด้านยาวประมาณ ๗๕ เมตร ด้านทิศเหนือมีกำแพงก่ออิฐถือปูนยาวประมาณ ๑๓๓ เมตร ด้านทิศใต้ซึ่งติดกับเขตกรมช่างอากาศบางซื่อ พื้นที่ของวัดจรดคลองบางซื่อเก่าตลอดทั้งด้าน ยาวประมาณ ๑๖๐ เมตร รวมพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่
สำเนาหลักฐานพระราชทานวิสุงคามสีมา วัดธรรมาภิรตาราม
อุโบสถวัดธรรมาภิรตารามหลังเดิม เจดีย์ที่เห็นหน้าอุโบสถนั้นเคยบรรจุพระเครื่องของหลวงปู่เอี่ยม
ที่ขุดเอาออกในคราวปฏิสังขรณ์อุโบสถใหม่ทั้งหลัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
ความเป็นมาของวัด
วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๐๐ (ตามหลักฐานที่กรมศิลปากรได้มาสำรวจหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม) ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง แต่เดิมมีนามเรียกกันว่า "วัดสองพี่น้อง" สันนิษฐานว่าสองคนพี่น้องสร้างวัดนี้ วัดนี้เดิมทีเดียว พื้นเพเป็นวัดในสวน มีต้นตะเคียน ต้นสะตือ ต้นสะบ้า ต้นยาง และต้นโพธิ์ใหญ่ ขนาด ๒-๓ คนโอบ และมีพรรณพฤกษาชาติต่าง ๆ เช่น สารภี พิกุล กระดังงา เป็นต้น ในวัดจึงมีบรรยากาศ ร่มรื่น ครึ้ม สงัด สงบ และมีลำคลองสายหนึ่งซึ่งมีปากคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ด้านเหนือ ลำคลองผ่านวัดนี้ไปจนถึงวัดไผ่ตันและวัดลาดพร้าวและต่อ ๆ ไปอีก คลองนี้เรียกว่า คลองบางซื่อ มีศาลาท่าน้ำของวัดนี้ตั้งอยู่ริมคลองเป็นระยะ ๆ ประมาณ ๔ หลัง การคมนาคมอาศัยเรือสัญจรไปมาในลำคลองนี้เป็นเส้นทางสำคัญ หรือไม่ก็เดินด้วยเท้า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองเปรมประชากร ตั้งต้นจากคลองผดุงกรุงเกษมตรงวัดโสมนัสฯ ผ่านคลองบางซื่อไปทะลุแม่น้ำที่ตำบลเกาะใหญ่แขวงกรุงเก่า ตรงที่คลองเปรมประชากรตัดกับคลองบางซื่อนั้นจึงเป็น ๔ แยก ต่อมาทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองประปาอีก คลองประปานั้นจะต้องผ่านคลองเปรม ฯ และคลองบางซื่อ จำเป็นต้องทำท่อน้ำคลองประปาลอดใต้คลองเปรม ฯ แล้วขุดคลองบางซื่อใหม่เหนือคลองประปา ขนานกันไปจรดคลองบางซื่อตรงที่คลองประปาตัดผ่านไป เป็นเหตุให้คลองงตัน เรือผ่านไปไม่ได้ตลอด ประกอบกับบริษัทปูนซีเมนต์ได้ตัดถนนจากบริษัทมาเชื่อมถนนหลวงตรงสี่แยกสะพานแดง ถนนสายนี้เกิดขึ้นด้วยกำลังของพ่อค้า จึงชื่อถนนเตชะวณิช และตัดผ่านหน้าวัดไปด้วย ทางวัดจึงใช้ถนนนี้เป็นเส้นทางคมนาคมในโอกาสต่อมา เรื่องถนนเตชะวณิชนี้ หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า พระอนุวัตรราชนิยม (แต้ย้ง หรือ ยี่กอฮง) ขุนบาลหวยคนสุดท้ายเป็นผู้สร้าง ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะชื่อถนนก็คือนามสกุลพระราชทานของท่านผู้นี้ และมีสิ่งอื่น ๆ อีกที่เป็นความหมายในราชทินนาม เช่น สะพานนิยมนฤนารถ ข้ามคลองบางซื่อเก่า โรงเรียนอนุวัตรศึกษาคาร ซึ่งอยู่ในเขตวัด และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมัธยมวัดสะพานสูง และต่อมาได้โอนให้เป็นโรงเรียนประชาบาล ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
ที่วัดนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งอำเภอบางซื่อ และสถานีตำรวจบางซื่อในพื้นที่ของวัดกับมีโรงเรียนสอนหนังสือไทยของรัฐบาล แต่ไม่มีตัวอาคารโดยเฉพาะต้องอาศัยศาลาการเปรียญเป็นสถานที่เรียนและสร้างโรงเรียนอนุวัตรศึกษาคารขึ้นภายหลัง ต่อมาที่ว่าการอำเภอ และสถานีตำรวจย้ายออกไปตั้งที่ใกล้สถานีรถไฟบางซื่อ และโรงเรียนมัธยมในวัดได้ย้ายไปเป็นโรงเรียนโยธินบูรณะตัวอาคารโรงเรียนโอนเป็นโรงเรียนประชาบาล แผนภูมิของวัดก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ ดังปรากฏตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ส่วนชื่อวัดเท่าที่ได้ฟังมา เรียกวัดสองพี่น้อง เพราะมีสองพี่น้องเป็นผู้สร้าง
เรียกว่าวัดสี่แยก เพราะวัดตั้งอยู่ตรงบริเวณคลองบางซื่อกับคลองเปรมประชากรตัดผ่านกันเป็นสี่แยก
เรียกว่าวัดสะพานสูง เข้าใจว่าสะพานข้ามคลองบางซื่อตรงบริเวณวัดคงจะสูง จึงเรียกวัดสะพานสูงตามลักษณะของสะพาน เรื่องนี้เคยได้ทราบจากผู้มีอายุในย่านบางซื่อที่พอเชื่อถือได้ผู้หนึ่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ เคยเสร็จมาที่วัดนี้ ทรงตรัสถามถึงชื่อวัด แล้วตรัสว่า วัดนี้มีสะพานสูงเป็นเครื่องหมาย ควรชื่อวัดสะพานสูง จึงเรียกวัดสะพานสูงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เรื่องนี้มีเหตุผล เพราะมีวัตถุพยานที่พระราชทานไว้ยังปรากฏอยู่ดังจะกล่าวต่อไป
อุโบสถที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหลังในบริเวณเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เสร็จบริบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๓
ต่อมาในสมัยที่ประเทศสยามเปลี่ยนเป็นประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ชื่อวัดที่เป็นภาษาไทยแท้ ๆ เห็นกันว่าไม่ไพเราะต่างพากันเปลี่ยนเป็นภาษาไทยซึ่งต้องแปลเป็นไทยซ้ำอีกเป็นจำนวนมากวัด และวัดสะพานสูงก็เปลี่ยนเป็นวัดธรรมาภิรตาราม โดยเจ้าคณะอำเภอดุสิตได้กรุณาตั้งให้ เพื่อให้เหมาะสมตามเหตุการณ์ที่เคยได้เป็นวัดที่มีการศึกษาเล่าเรียนมาทั้งทางโลกและทางธรรม กุลบุตรกุลธิดาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในสำนักนี้ มีความรู้ไปประกอบการเลี้ยงชีพมีความเจริญก้าวหน้ามากมายไม่อาจนำมาบันทึกในโอกาสนี้ได้
ในปัจจุบันนี้แม้ว่าวัดนี้จะมีชื่อเป็นทางการว่า "วัดธรรมาภิรตาราม" แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังคงเรียกว่า "วัดสะพานสูง" อยู่อย่างเดิม
วิหารหลังเดิม เมื่อก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๓
พระวิหารหลวงพ่ออู่ทอง ซึ่งปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหลังในที่เดิม
ทำบุญฉลอง เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ - ๔ มีนาคม ๒๕๒๐
อานิสงส์การสร้างวิหารทาน
องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงตรัสไว้ว่า "การถวายวิหารทานมีอานิสงส์มาก
แม้ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๑๐๐ ครั้ง ยังมีอานิสงส์ไม่เท่าถวายสังฆทานครั้งเดียว
แม้การถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง ยังมีอานิสงส์ไม่เท่า
การถวายวิหารทานครั้งเดียว"
อดีตพระภิกษุที่ร่วมกันสร้างความเจริญเติบโตให้วัดธรรมาภิรตารามสืบทอดจนถึงปัจจุบัน
พระมหาสาอดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตารามถ่ายกับพระภิกษุและญาติโยม
พระครูธรรมานุกูล (เครื่อง อิสฺสโร วอนประสพ) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตารามถ่ายกับญาติโยม
ภาพอดีตพระภิกษุสามเณรคณะนวกะภิกษุ วัดธรรมาภิรตาราม
หลวงจบกระบวนยุทธ พ่อตาของจอมพลถนอม กิตติขจร ให้เกียรติมาเป็นประธานงานพิธีสำคัญของวัดธรรมาภิรตาราม