top of page

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง


          เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 คณะศิษยานุศิษย์วัดธรรมาภิรตาราม (ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์)    ได้พร้อมใจกันจัดทอดผ้าป่าสามัคคีได้เงินบริจาคทั้งหมด 350,000 บาท เพื่อนำมาจัดตั้งมูลนิธิของวัดในการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรวัดธรรมาภิรตารามและสนับสนุนกิจการเผยแผ่ธรรมของวัดในรูปแบบของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 

 

 

 

 

พระครูสิริธรรมวิมล (เล็ก ปวโร) ผู้จัดตั้งมูลนิธิ


การประชุมจัดตั้งมูลนิธิ

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2532  ณ ศาลาเพาะวิทยาพรต วัดธรรมาภิรตาราม ได้มีการประชุมจัดตั้งมูลนิธิ โดยมี  พระครูสิริธรรมวิมล (เล็ก ปวโร) อดีตเจ้าอาวาส (องค์ที่ 6) เป็นประธานการประชุมพร้อมพระภิกษุ ฆราวาสรวม 7  ท่าน พระภิกษุผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ 5 รูป และผู้เข้าร่วมประชุมอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมของผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินทอดผ้าป่าสามัคคีดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดต่าง ๆ แล้ว มีมติ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบร่างตราสาร (ข้อบังคับ) มูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม (ชื่อเดิม) จำนวน 12 หมวด 45 ข้อ เป็นเอกฉันท์

          2. เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม (ม.ธม.) ชุดแรก จำนวน 15 ท่าน เป็นคฤหัสถ์ทั้งหมด    โดยมีนายชัชวาลย์  คงอุดม  เป็นประธานกรรมการ

          3. มอบหมายให้ประธานที่ประชุมในฐานะเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม เป็นผู้ลงนามในคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ

          หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมแล้วนั้น นายชัชวาลย์ คงอุดม ได้นำรายงานการประชุม ตราสาร (ข้อบังคับ) คำร้องขอจดทะเบียน ซึ่งลงนามโดยพระครูสิริธรรมวิมลยื่นคำร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จนได้รับการจัดทะเบียนจากกรุงเทพมหานครเป็นคณะกรรมการมูลนิธิชุดแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2533 เลขทะเบียน 4513 ชื่อมูลนิธิ “บำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม” (ม.ธม.)  โดยมีทุนจดทะเบียน 350,000 บาท (คลิก รายละเอียดการประชุม และการจัดตั้งมูลนิธิ) 

          ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการดำเนินงานมูลนิธิได้มีการประชุมสามัญประจำปีครั้งแรก โดยมีประธานกรรมการและกรรมการเข้าร่วมประชุม จำนวน 10 ท่าน ไม่มาประชุมจำนวน 5 ท่าน เป็นการรายงานผลการดำเนินงาน สถานะกิจการที่ผ่านมา ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการมูลนิธิ จำนวน 15 รูป โดยมี  พระครูสิริธรรมวิมล  เป็นประธานกรรมการ  พระมหาสำลี  สิริกาญฺจโณ เป็นรองประธานกรรมการและที่ประชุมแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิจำนวน 10 ท่าน คณะกรรมการกำกับการมูลนิธินี้ เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยมติที่ประชุมใหญ่ เพื่อกำกับดูแลและให้ความสนับสนุนคณะกรรมการดำเนินงานตามที่คณะกรรมการดำเนินงานร้องขอแต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้ (คลิก รายละเอียดบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม สามัญประจำปี 2534) ในวันประชุมมีผู้ศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุน และเปิดรับบริจาคหลังจากปิดประชุมต่อเนื่องจนถึงเที่ยงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 717,794  บาท (คลิก รายชื่อผู้บริจาค ปี พ.ศ. 2531-2534 จำนวน 203 ท่าน)   

          หลังจากนั้นมูลนิธิบำรุงการศึกษาฯ ไม่มีภารกิจเคลื่อนไหว เนื่องจากกรรมการมีภารกิจรัดตัว จนกระทั่งกรรมการทยอยเสียชีวิตจำนวน 9 ท่าน จาก 15 ท่าน เหลือกรรมการไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (8 ท่าน) ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้
          

 

อาจารย์เล็ก.png
ประธาน.jpg

 การฟื้นฟูมูลนิธิ

(เริ่ม 4 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561 รวม 1 ปี 7 เดือน) 


        อนุสนธิจากการที่พระมหาสำลี  สิริกาญจโน  รองประธานฝ่ายกำกับการมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม  ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูโกศลธรรมคุณและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมภิรตาราม (แทนพระครูสิริธรรมวิมล ซึ่งมรณภาพ) เห็นว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมามูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตารามไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เนื่องจากคณะกรรมการมีภารกิจของตนเองมาก และปัจจุบันได้เสียชีวิตไปหลายท่านแล้ว  เกรงว่ามูลนิธิที่จัดตั้งไว้จะไม่ได้สานต่อเจตนารมณ์ของญาติโยม  ตลอดจนเงินที่ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนได้บริจาคไว้ยังไม่ได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ และท่านไม่สามารถตอบคำถามญาติโยมเกี่ยวกับมูลนิธิได้  ท่านจึงได้หารือและขอความร่วมมือให้นายไพโรจน์  ตัณฑิกุล  ลูกศิษย์ที่รู้จักดีและเคยบวชที่วัดธรรมาภิรตารามมาก่อน ให้ช่วยฟื้นฟูมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม  เพื่อขับเคลื่อนบริหารจัดการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิต่อ  เพื่อสนองศรัทธาและเจตนารมณ์ของญาติโยมทุกฝ่าย  
        นายไพโรจน์  ตัณฑิกุล จึงได้ดำเนินการฟื้นฟูใหม่ทั้งหมดเพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ ใช้อ้างอิงได้เลย   โดยไปติดต่อกรมการปกครอง  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร   ค้นหาหลักฐานประวัติความเป็นมา  จนค้นพบและขอคัดสำเนาหลักฐานต่าง ๆ และตรวจสอบบัญชีเงินฝาก จึงพบว่า กรรมการดำเนินงาน จำนวน 15 ท่าน ได้เสียชีวิตแล้ว 9 ท่าน ติดต่อไม่ได้ 2 ท่าน เหลือกรรมการอยู่เพียง 4 ท่าน
        นายไพโรจน์  ตัณฑิกุล  จึงได้จัดทำ Road Map 10 ขั้นตอนเพื่อ ฟื้นฟูมูลนิธิบำรุงการศึกษา  วัดธรรมาภิรตาราม จนสำเร็จ เรียงตามลำดับ ดังนี้ 

  • 21  ตุลาคม 2560 จัดประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2560 ขอมติที่ประชุมแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราว  5 ท่าน สมทบกับกรรมการเก่า 4 ท่าน  รวมเป็น 9 ท่าน และเห็นชอบการลาออกของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 2 ท่าน จาก 4 ท่าน (ที่ยังมีชีวิตอยู่)

  •  22  ธันวาคม 2560 ประชุมครั้งที่ 2/2560 เห็นชอบการลาออกของกรรมการ 1 ใน 2 ท่าน  ที่ติดต่อไม่ได้เพิ่งติดตามพบและเขียนใบลาออกมาหลังจากประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2560 แล้ว

  •  3  มกราคม 2561  ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง

  •  23 เมษายน 2561  ศาลแพ่งนัดพิจารณาไต่สวน

  •  23 พฤษภาคม 2561 ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งศาล

  •  19 มิถุนายน 2561  รับคำสั่งศาลแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม (ชุดที่ 2)

  •  3 กรกฎาคม 2561  ยื่นจดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ (ชุดที่ 2) ตามคำสั่งศาลแพ่งกับนายทะเบียนเขตดุสิต และตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

  •  9  สิงหาคม 2561  ได้รับการจดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม ชุดใหม่ (ชุดที่ 2) จากนายทะเบียนเขตดุสิต จำนวน 9 ท่าน โดยมีพระครูโกศลธรรมคุณ (เจ้าอาวาส) เป็นประธานกรรมการ (คลิกรายละเอียด)

  • 12 พฤศจิกายน 2561  ยื่นขอเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิโกศลธรรมคุณ (เนื่องจากชื่อเดิมจะทำให้สาธุชน ประชาชนทั่วเข้าใจว่ามูลนิธินี้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเฉพาะการศึกษาเท่านั้น) และแก้ไขข้อบังคับบางส่วน เพื่อให้มูลนิธิดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ร่วมมือกับบุคคล กลุ่มบุคคล นิติบุคคล เพื่อดำเนินการสาธารณประโยชน์ หรือสาธารณกุศล เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ประกอบคุณความดี

  • 30 พฤศจิกายน 2561  ได้รับการจดทะเบียนให้แก้ไขข้อบังคับให้มีวัตถุประสงค์กว้างยิ่งขึ้นตามที่ขอ และให้เปลี่ยนชื่อจาก มูลนิธิบำรุงการศึกษาวัดธรรมาภิรตาราม (ม.ธม.) เป็นมูลนิธิโกศลธรรมคุณ (ม.กธ.) โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานทั้งหมด  9 ท่าน


“มูลนิธิโกศลธรรมคุณ  นำบุญพาสุขสู่คุณและสังคม”

bottom of page