top of page

ประวัติเจ้าอาวาส

หลวงพ่อเครื่องแก้ไขล่าสุด.png

ประวัติสังเขป

พระครูธรรมานุกูล  (อิสฺสรเถร  เครื่อง วอนประสพ)

ชาติภูมิ

          พระครูธรรมานุกูล  นามเดิม “เครื่อง” นามสกุล “วอนประสพ” เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายวัน-นางเปรม  วอนประสพ สกุลเดิมทางมารดา “เสือบัว” เกิดเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีฉลู  ตรงกับวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๔   ณ บ้านเลขที่ ๔๒ ตำบลบางซื่อ  อำเภอบางซื่อ  จังหวัดพระนคร  มีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน  คือ

          ๑. นายเจริญ  วอนประสพ

          ๒. พระครูธรรมานุกูล (เครื่อง วอนประสพ)

          ๓. นางสำเภอ  เรืองศิลป์

          ๔. นางเฉลิม  เชาว์วิไล

 

ชีวิตในเบื้องต้น

          เมื่อเยาว์วัยอายุประมาณ ๑๐ ขวบเศษ  เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดแก้วฟ้าจุฬามณี  และมาเรียนต่อที่โรงเรียนอนุวัตรศึกษาคาร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมัธยมวัดสะพานสูง  ปัจจุบันคือโรงเรียนโยธินบูรณะ)  เมื่อสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๑ แล้วก็เลิกเรียน  เพราะได้สมัครเข้ารับราชการในกรมช่างแสงทหารบก  ขณะนั้นมีอายุประมาณ ๑๖ ปี  ต่อมาได้รับบรรจุเป็นช่างอาวุธ เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารได้เข้ารับราชการทหารในกรมช่างแสง เรียกว่า  “ทหารช่างแสง” สมัยนั้นทหารเกณฑ์ต้องรับราชการทหารถึง ๒ ปีเต็ม

          น้องสาวหลวงพ่อพระครูธรรมานุกูลเล่าให้ฟังว่า  เมื่อเป็นฆราวาสชอบเครื่องแต่งกายสีขาวเรียบ ๆ ที่พ่อแม่เย็บทำให้เองไม่ชอบสีฉูดฉาด สมัยเป็นเด็กเคยไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระครูปลัดแพร  เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้าจุฬามณี  และเป็นศิษย์คนโปรดของพระครูปลัดแพทีเดียว  ข้อนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระครูปลัดแพโดยสม่ำเสมอตลอดมา  จนพระครูปลัดแพมรณภาพ

 

การอุปสมบท

          เมื่อรับราชการทหารจนครบกำหนดปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนแล้ว  ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสะพานสูง ตำบลสามเสนใน อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือวัดธรรมาภิรตาราม)  เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘  เวลา ๑๔ นาฬิกา   โดยมีพระครูวิมลสมาจารวัดบางโพ  (วัดบางโพโอมาวาส) เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิกาคง วัดบางกระบือ  (วัดประชาระบือธรรม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระอธิการเผือก  วัดลาดพร้าว  เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อิสฺสโร” ได้อยู่จำพรรษาที่วัดสะพานสูงตลอดมา  จนมรณภาพ

          เมื่ออุปสมบทแล้ว  ได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระมหาสา อดีตเจ้าอาวาสองค์หนึ่งของวัดสะพานสูงในสมัยนั้น  สอบธรรมสนามหลวงได้นักธรรมชั้นตรี  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  นักธรรมชั้นโท  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗  และมิได้ศึกษาต่ออีก

 

หน้าที่พระสังฆาธิการ

พ.ศ. ๒๔๗๖    ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสะพานสูง

พ.ศ. ๒๔๗๘    เป็นเจ้าคณะหมวดสามเสนใน

พ.ศ. ๒๔๗๘    เป็นกรรมการศึกษาโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลสามเสนใน

พ.ศ. ๒๔๘๕    เป็นพระอุปัชฌายะ

พ.ศ. ๒๔๙๗    เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะตำบลบางซื่อ  และเป็นเจ้าคณะตำบลบางซื่อในเวลาต่อมา

พ.ศ. ๒๕๑๙    เป็นเจ้าคณะตำบลถนนนครไชยศรี  บางซื่อ  เขต ๓ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเรียกเป็นเจ้าคณะแขวง

 

สมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๙๖    เป็นพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี  ที่พระครูธรรมานุกูล

พ.ศ. ๒๕๑๘    เลื่อนเป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโท

 

การพัฒนาวัด

          เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว  ได้ดำเนินการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ  การพัฒนาวัดสะพานสูงนี้ได้แบ่งเป็นสองยุค  คือ ยุคแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๙  ได้รื้อถอนปรับปรุงกุฏิต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยเป็นระเบียบ จึงได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ให้เป็นแถวเป็นแนวเข้าระเบียบเรียบร้อยกว่าเดิม  ได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งฝ่ายนักธรรมและบาลี   จนมีพระเปรียญสอบเปรียบธรรมได้ถึง ๙  ประโยค  และได้ปฏิสังขรณ์ อุโบสถ  ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม

          ในยุคหลัง  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๒๒  ได้พัฒนาวัดไปตามยุคสมัยคือได้สร้างเมรุเผาศพ  ตามแบบเทศบาลขึ้นใน  พ.ศ. ๒๔๙๕  ปฏิสังขรณ์  พระวิหารเป็นสองระยะ  ระยะแรกรื้อวิหารหลังเดิม  สร้างเป็นพระวิหารชั่วคราว  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔  และรื้อพระวิหารชั่วคราว  สร้างเป็นพระวิหารถาวร  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘  และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔  เป็นต้นมา  ได้สร้างหอระฆังขึ้น ๑ หลัง  ศาลาพิธีใช้ในกิจการฌาปนสถานและอื่น ๆ ๒ หลัง และเริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิอีกครั้งหนึ่ง  โดยเปลี่ยนแปลงกุฏิเดิมให้เป็นกุฏิสองชั้น  ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน  ส่วนชั้นบนเป็นไม้ตามเดิม  บางหลังก็สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดตามความเหมาะสม  ได้ใช้จ่ายทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก  ตลอดจนได้ปรับปรุงศาลาการเปรียญและบริเวณลานวัดให้ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕  นายประจวบ  นางทองขาว  นีละเสวี  พร้อมด้วยนางสาวประเทืองศรี  นีละเสวี  ผู้เป็นบุตรี  ได้สร้างศาลา  “นีละเสวีนุสรณ์”  ถวายวัด ๑ หลัง  พร้อมด้วยอุปกรณ์ตบแต่งและประจำศาลา  เพื่อให้เป็นสถานที่สอนพระปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์สามเณร  และใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย  ศาลาหลังนี้สร้างอุทิศส่วนกุศลให้  พระศรีไพชยนต์ (ขำ นีละเสวี) และนางเอี่ยม  นีละเสวี  ผู้เป็นบุพพการี

 

ในหน้าที่พระอุปัชฌายะ

          เนื่องจากหลวงพ่อพระครูธรรมานุกูล  เป็นพระท้องที่  ซึ่งมีคนรู้จักคุ้นเคยและเคารพนับถือท่านมากองค์หนึ่ง  ท่านจึงได้รับนิมนต์ไปเป็นพระอุปัชฌายะ  ให้การอุปสมบทแก่บุตรในย่านบางซื่อ  สามเสนใน  บางซ่อน  ลาดยาว  ห้วยขวาง และลาดพร้าว  ปีหนึ่ง ๆ มีเป็นจำนวนมาก  แต่ท่านเป็นผู้ไม่สะสม  จตุปัจจัยไทยธรรมที่ได้มา  ท่านก็ได้ใช้ไปในการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดบ้าง แจกจ่ายให้ผู้ที่มาขอไปทอดกฐินผ้าป่าบ้าง  มอบให้โรงพยาบาลสงฆ์บ้าง  มอบเข้าเป็นมูลนิธิของวัดบ้าง และศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพระครูธรรมานุกูลก็มีอยู่ทั่วไปในย่านชุมชนดังกล่าวด้วย

 

เกียรติประวัติ

          หลวงพ่อพระครูธรรมานุกูล  เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ก็จริง  แต่ก็มีเกียรติประวัติที่บันทึกไว้ได้ว่า  ท่านเคยได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙  แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑  ปีมะโรง

          หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พ.ศ. ๒๕๑๙ ตามหนังสือสำนักพระราชวัง ที่ ๑๔/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ มีความตอนหนึ่งว่า

 

          "วันพฤหัสบดี ที่ ๑๔ ตุลาคม พระบาททสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

 

          เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  ถวายผ้าพระกฐินเป็นวัดที่ ๑ แล้วเสด็จราชดำเนินไปยังวัดธรรมาภิรตาราม เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่อุโบสถ ถวายผ้าพระกฐินเป็นวัดที่ ๒ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขมาภิรตาราม เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ  ถวายผ้าพระกฐินเป็นวัดที่ ๓ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

         วันนี้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายมงกกุฎไทย"

 

          ตามวันเวลาดังกล่าวในหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งถึงวัดธรรมาภิรตาราม เมื่อเวลา ๑๕.๕๓ นาฬิกา ตามเสด็จด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมารทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากพศกนิกรที่ได้มาเฝ้าชมพระบารมีอย่างล้นหลามแน่นอาณาบริเวณวัด

 

         เมื่อได้เสด็จเข้าสู่อุโบสถ  ถวายผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว  พลอากาศโทศิระ  อิศรางกูล ณ อยุธยา เจ้ากรมช่างอากาศได้กราบบังคมทูลขอเบิกตัวผู้จะเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารวัดธรรมาภิรตารามเข้าเฝ้าตามลำดับ จำนวน ๕๑ ราย ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระครูธรรมานุกูล  เจ้าอาวาส และพระราชกิตติเวที เจ้าคณะเขตดุสิต อยู่เป็นเวลานาน  ประมาณ ๑๕ นาที  แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ  เมื่อเวลา ๑๖.๕๗ นาฬิกา

 

        เกียรติประวัติอันนี้  เท่าที่ทราบยังไม่เคยมีเจ้าอาวาสวัดราษฎร์รูปใดเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างนี้  นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้ากฐินเป็นส่วนพระองค์

bottom of page