top of page

ประวัติเจ้าอาวาส

พระครูสิริธรรมวิมล.png

ประวัติสังเขป

พระครูสิริธรรมวิมล (เล็ก ปวโร  เปาวรัตน์)

ภาคที่หนึ่ง ชีวิตก่อนการบรรพชาอุปสมบท

          พระครูสิริธรรมวิมล  นามเดิมว่า  เล็ก  เปาวรัตน์  เกิด  ณ  วันเสาร์ที่ ๑๖  เมษายน ๒๔๖๔  ที่บ้านเลขที่ ๘๙๑  บ้านสวนอ้อย  ตรอกกระดังงา  ตำบลสุโขทัย (ปัจจุบัน  เป็นแขวงวชิรพยาบาล) อำเภอดุสิต  เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพ่อโป้  แม่จู  เปาวรัตน์  มีพี่น้องร่วมบิดามารดา  ๑๒ คน คือ

          ๑. นายลิขิต  เปาวรัตน์

          ๒. นางสุภาพ  พฤกษธัมมโกววิท

          ๓. พันเอกสด  เปาวรัตน์

          ๔. พระครูสิริธรรมวิมล

          ๕. เด็กชาย

          ๖. นางกีดา  นะโมน้อม

          ๗. นางลำเนา  เปาวรัตน์

          ๘. เด็กชาย

          ๙. นางสาวสุดา  เปาวรัตน์

          ๑๐. นางสุนันท์  รัตตะรังสี

          ๑๑. นายการุญ  เปาวรัตน์

          ๑๒. นายสุทศ  เปาวรัตน์

          ลำดับที่ ๑-๘ เกิดที่บ้านเลขที่ ๘๙๑ บ้านสวนอ้อย  ตรอกกระดังงา  ตำบลถนนสุโขทัย  อำเภอดุสิต  ลำดับที่ ๙-๑๒  เกิดที่บ้านเลขที่ ๕๖ ฉ ถนนเตชะวณิช  บางซื่อ  กรุงเทพมหานคร

          เนื่องจากบ้านสวนอ้อยถูกเวนคืน  จึงย้ายมาอยู่ที่ตำบลลาดยาว  อำเภอบางซื่อ (พ.ศ. ๒๔๗๑) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของย่านพหลโยธิน  อยู่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายอีกครั้งหนึ่ง  มาอยู่ที่สวนของพระอาจารย์ทองดี  ซึ่งเป็นผลไม้พันธุ์ดี  ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นก็คือ  ฝรั่ง  มีคนไปรับซื้อถึงในสวนเพราะอร่อยมาก  รวมทั้งผลไม้ชนิดอื่น  เช่น  มะม่วง  มะปราง สำหรับมะปราง  ก็เลือกพันธ์รสหวานแหลม  ที่เรียกกว่า  มะยงชิด  ส่วนพันธ์รสเปรี้ยวจัดที่เรียกว่า  กาวาง หรือพันธ์รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ที่เรียกมะยง จะไม่มีในสวนนี้  มีกล้วยอ้อย  พุทรา  มะพลับ  มะพูด ฯลฯ แต่ที่สวยสะดุดตาก็คือดอกไม้นานาพันธุ์ที่พระครูสิริธรรมวิมล  สรรหามาปลูกไว้หน้าบ้าน  ใครไปเห็นแล้วแล้วต้องทึ่งทุกคน  ว่าไปได้พันธุ์มาจากไหน  ดอกโต  สีสันงดงาม  แต่สิ่งเหล่านี้ต่อมาได้อันตรธานไป  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้คนเช่าปลูกบ้าน  และปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง  เมื่อสวนที่มีผลไม้อร่อยดอกไม้เจริญตา  ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ  “เตาปูนแมนชั่น” ส่วนพี่น้องสายสกุล  เปาวรัตน์ ก็แยกย้ายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ

          บุตรคนที่  ๑  และคนที่ ๓ อยู่ประชานิเวศน์ ๑ ถนนเทศบาลนิตใต้ รวม ๔ หลัง

          บุตรคนที่  ๒  และลูกหลาน อยู่ที่บริษัท ล.ไชยฮวด  ปทุมธานี  และศูนย์การค้าประชาชื่น

          บุตรคนที่  ๔  พระครูสิริธรรมวิมล  จำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาภิรตาราม  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๔๔

          ธิดาคนที่  ๖  คนที่ ๙  และบุตรคนที่ ๑๒ อยู่ซอยสุวรรณดี  ๓  บางซื่อ  รวมทั้งลูกหลาน ๖ หลัง

          บุตรคนที่ ๗  อยู่ประชาชื่นซอย ๓๗/๙

          ธิดาคนที่ ๑๐ อยู่บางซ่อน เมืองทองธานี  ติวานนท์ ๔๕

          บุตรคนที่ ๑๑  อยู่บางบัวทอง

 

การศึกษา (ตั้งแต่เยาว์วัย-รับราชการ)

          พ.ศ. ๒๔๗๓ (ระดับประถม-มัธยมต้น) โรงเรียนมัธยมวัดสะพานสูง  พระนคร

          พ.ศ. ๒๔๘๐ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ (หลักสูตรมัธยมศึกษา) ที่โรงเรียนมัธยมโยธินบูรณะ (ย้ายไปจากวัดสะพานสูง หรือโรงเรียนวัดสะพานสูง  เดิมนั่นเอง เลขประจำตัวคือ หมายเลข ๔)

          พ.ศ. ๒๔๘๑ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๘ ที่โรงเรียนชุมพรวิทยาลัย

          พ.ศ. ๒๔๘๔  จบการศึกษาจากโรงเรียนแผนที่ทหารบก  บรรจุเข้ารับราชการในกรมแผนที่ทหารบก  หรือโอนไปรับราชการในกรมรถไฟ (การรถไฟในปัจจุบัน) ตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงคมนาคม

          ระหว่างนี้เกิดสงครามอินโดจีน  ติดตามด้วยสงครามมหาเอเซียบูรพา  (สงครามโลกครั้งที่ ๒) สะพานบ้านดาราจังหวัดอุตรดิตถ์  ซึ่งเป็นชุมทางใหญ่ถูกทำลาย  นายเล็ก  เปาวรัตน์ (พระครูสิริธรรมวิมล) จึงถูกทางราชการส่งไปคุมงานที่ชุมทางบ้านดารา  สงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้น  ตามลำดับ  ทำให้การซ่อมแซมเต็มไปด้วยความยากลำบาก  ไข้ป่าก็ชุกชุม  ผลที่สุดท้ายก็ป่วยเป็นไข้ป้าง (ชื่อโรคชนิดหนึ่ง  มีตับและม้ามโตมีไข้คลุมเครือ  เรื้อรัง คือไข้จับสั่นเรื้อรัง)  เพราะสงครามจึงทำให้มีแต่ความขาดแคลน อย่าว่าแต่ยารักษาโรคเลย แม้แต่เสื้อผ้า อาหาร ก็แทบจะหาไม่ได้ (ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ข้าราชการ จะมีชุดราชการเพียงชุดเดียว  ใส่เป็นปีปี) ท่านต้องทนทุกข์ทรมานมาก  ลาพัก ลาออกก็ไม่อนุมัติ ผลที่สุดท้ายต้องใช้วิธีเขียนใบลาออกไว้  แล้วก็ล่องเรือตามลำน้ำกลับกรุงเทพมหานคร  เพื่อมารักษาตัวให้จริงจัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘

 

ภาคที่ บรรพชา อุปสมบท

          หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงใหม่ ๆ ประกอบกับโยมแม่ได้รับอุบัติเหตุถูกรถกระบะบรรทุกผู้โดยสารชนได้รับบาดเจ็บสาหัส  ที่บริเวณสี่เสาเทเวศน์  กระดูกขาข้างหนึ่งหัก  ต้องรักษาอาการอยู่เป็นเวลานาน  เมื่อโยมแม่อาการทุเลาขึ้นจึงบรรพชาอุปสมบทเพื่อแก้บน  โดยความตั้งใจว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียวเท่านั้น

          อุปสมบท  เมื่ออายุ ๒๗ ปี  ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  ณ พัทธสีมาวัดธรรมาภิรตาราม (สะพานสูง, บางซื่อ) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น เขตและชื่อในการปกครอง อาจจะเรียกแตกต่างจากปัจจุบัน)

          พระอริยศีลสังวร (ปลด พรหมสโร) วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอุปัชฌาย์

          พระอธิการเครื่อง อิสฺสโร (พระครูธรรมานุกูล) วัดธรรมาภิรตาราม  เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พระเจิม สิริปญฺโญ  วัดธรรมาภิรตาราม  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  สำเร็จเวลา ๑๓.๐๐ น. ได้นามฉายาว่า ปวโร (อนุวัตรตามชื่อสกุล  คือ เปาวรัตน์)

 

การศึกษาทางธรรมและการศึกษาพิเศษ

          พ.ศ. ๒๔๘๙      สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี

          พ.ศ. ๒๔๙๐      สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท

          พ.ศ. ๒๔๙๐      เป็นเลขานุการคณะกรรมการหาทุนส่งเสริมวัดธรรมาภิรตาราม

          พ.ศ. ๒๔๙๒      สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก

          พ.ศ. ๒๕๐๒      สอบไล่ได้ประโยคครูพิเศษประถม (ครู พ.ป. หรือครู ป.) ขยายความเพิ่มเติม การจัดสอบวิชาชุดครูสำหรับบุคคลภายนอก ของกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้เพิ่มพูนวิทยฐานะสูงขึ้นไปตามลำดับ  ชั้นสูงสุดของการสมัครสอบคือประโยคครูพิเศษมัธยม (ครู พ.ม.) ถ้าเรียนโดยตรง  จะเรียกว่า  ประโยคครูมัธยม (ป.ม.) ถือว่าเป็นการศึกษาในระดับอนุปริญญา  ทางวิชาชีพครู  การจัดสอบวิชาชุดครูสำหรับบุคคลภายนอกได้ยกเลิกไปแล้ว  เมื่อสิบปีเศษที่ผ่านมานี้เอง  เพราะสถาบันการฝึกหัดครู  (วิทยาลัยครู-สถาบันราชภัฎในปัจจุบัน) ขยายตัวทั่วถึงมากขึ้น

 

หน้าที่พิเศษ  การปกครอง  สมณศักดิ์

          พ.ศ. ๒๔๙๐      เป็นเลขานุการคณะกรรมการหาทุนส่งเสริมวัดธรรมาภิรตาราม (ส.ส.)

          พ.ศ. ๒๔๙๑      เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม

          พ.ศ. ๒๕๐๓      เป็นครูสอนพิเศษโรงเรียนเทศบาลวัดธรรมาภิรตาราม  วิชาหน้าที่พลเมืองศีลธรรม (พุทธศาสนา จริยศึกษา) 

                               จนเมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสจึงหยุดสอน  และมอบหมายให้  พระภิกษุรูปอื่นทำหน้าที่นี้แทน

          พ.ศ. ๒๕๒๐      เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม

          พ.ศ. ๒๕๒๒      เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม (๒๗ เมษายน ๒๕๒๒)

          พ.ศ. ๒๕๒๓      เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม ( ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๓)

          พ.ศ. ๒๕๒๙      เป็นพระอุปัชฌาย์  (รับใบตราตั้ง ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙)

 

สมณศักดิ์

          ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐        เป็นพระครูสิริธรรมวิมล  พระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท

          ๕ ธันวาคม ๒๕๓๖        เป็นพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก  ในราชทินนามเดิม

 

ผลงานด้านการศึกษา, เผยแผ่ประจำวัด

          ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม  หลวงพ่อได้สนับสนุนการศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลีโดยได้ฟื้นฟูให้มีการเรียนการสอนนักธรรม (นอกเหนือจากการอบรมพระนวกะในพรรษา  เหมือนแต่ก่อนมา) มีนักธรรมชั้นตรี-เอก แผนกบาลี  ตั้งแต่ชั้นบาลีไวยากรณ์-ประโยค ป.ธ. ๕  โดยเรียนในภาคเช้า และบ่าย  เป็นสำนักศาสนศึกษา  มีพระครูอาจารย์ที่เป็นพระมหาเปรียญ  รับภารธุระช่วยสอน  มีพระมหาสมใจ  ปญฺญาทีโป  ป.ธ. ๙  (รูปล่าสุดในนามของวัดธรรมาภิรตาราม  เป็นผู้นำ  ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๖  เมษายน ๒๕๓๑  ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ) เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๖  เป็นต้นมา

          นอกจากแผนกนักธรรม-บาลีแล้ว  หลวงพ่อยังส่งเสริมการศึกษาทางคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชน  ซึ่งเป็นลูกหลานของพี่น้องประชาชนในถิ่นนี้  โดยตั้งเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น  เมื่อปี ๒๕๒๘  เป็นต้นมา  จนถึงปัจจุบัน       

          ในวันธรรมสวนะ (วันพระ) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระที่วัดนี้  ในตอนเย็นของทุกวันธรรมสวนะ  เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะลงไปแสดงธรรม (เทศน์) โปรดญาติโยมและหลวงพ่อก็ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด  ไม่เคยขาดเลย  จนท่านอาพาธ  ไม่สามารถขึ้นศาลาการเปรียญได้อีก  ท่านจึงมอบหมายให้พระรูปอื่นไปทำหน้าที่แทน

          งานเผยแผ่อื่น ๆ เนื่องจากหลวงพ่อมีอุปนิสัยที่ไม่ชอบคุยมากนัก  ดังนั้นการเทศน์การแสดงธรรมท่านจึงไม่ชอบตามไปด้วย  (แม้ว่าหลวงพ่อจะเป็นนักพูดที่ดีมาก พูดสั้นกระชับ  ได้เนื้อหาสาระมากก็ตาม) ท่านจะดูงานและมอบหมายให้พระไปแทนให้เหมาะสมกับงาน  ไม่ให้เสียชื่อวัด

          นอกจากนั้น  หลวงพ่อยังทำหน้าที่เป็นประธานอุปถัมภ์มูลนิธิ ธรรมานุกูล  ที่หลวงพ่อพระครูธรรมานุกูล  อดีตเจ้าอาวาสรูปก่อน  พร้อม  คณะครูอาจารย์โรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม  ตลอดจนประชาชนในย่านนี้  จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเป็นทุนการศึกษา  อาหารกลางวัน แก่นักเรียน  มาจนถึงปัจจุบัน

 

ผลงานด้านการบูรณปฏิสังขรณ์  อาคารเสนาสนะ  ภายในวัด

          โดยเหตุที่หลวงพ่อได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการหาทุนส่งเสริมวัดธรรมาภิรตาราม (ส.ส.)  มาตั้งแต่  ปี ๒๔๙๐  และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ตั้งแต่  ปี ๒๕๒๐  การก่อสร้างและซ่อมแซมบูรณะถาวรวัตถุภายในวัด ท่านจึงมีความรู้  ความเข้าใจอย่างละเอียดถ่องแท้ทุกแง่ทุกมุมสังเกตได้จากการเขียนการบันทึกที่ทำไว้เป็นหนังสือ  ตั้งแต่การสร้างเมรุ (๒๔๙๖) เป็นต้นมาจักไม่กล่าวถึงในที่นี้  จะพูดถึงเฉพาะเมื่อท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาส (๒๕๒๓ - ๒๕๔๔) ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส และเป็นประธานคณะกรรมการหาทุนส่งเสริมวัดธรรมาภิรตาราม  เป็นต้นมา (ที่หลวงพ่อยังมิได้บันทึก หรือไม่ต้องการจะบันทึก หรือบันทึกไว้แล้ว แต่ค้นไม่เจอ  จึงเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏอยู่  จำเฉพาะหน้า  ตัวเลข  ราคาก่อสร้างอาจจะผิดไปจากความเป็นจริงบ้าง  ขออภัยไว้ก่อน  ณ ทีนี้ด้วย)

 

ผลงานการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ตามลำดับ พ.ศ.

          พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗  บูรณศาลาเพาะวิทยาพรต (ศาลา ๖) จากเดิมที่มีเพียงชั้นเดียวใช้เป็นศาลาบำเพ็ญกุศลในงานสวดพระอภิธรรมศพ  ให้เป็นศาลา ๒ ชั้น  ชั้นบนใช้เป็นที่เรียนพระปริยัติธรรม  และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์  มีลักษณะเป็นโถงกว้างห้องเดียว  นับเป็นอาคารเรียนหลังแรกในยุคฟื้นฟู (ปัจจุบันใช้เป็นที่ฝึกนาฏศิลป์ของ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และห้องสมุดโรงเรียน)

          พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐  บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ  (รื้อออกสร้างใหม่ในสถานที่เดิม) เดิมเป็นศาลาชั้นเดียว  มี ๒ ตอน  เป็นศาลาบำเพ็ญกุศล (ศาลา ๑) ตอนหนึ่งเป็นศาลาการเปรียญ (ศาลา ๒) ตอนหนึ่งเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง  มีสภาพชำรุดทรุดโทรม  ประกอบกับได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุที่ช่างแสง  เมื่อปี ๒๕๒๖ (ถ้าจำ พ.ศ.ผิด ก็ขออภัย) หรือกรมสรรพาวุธทหารบก (โดย ก่อนหน้าที่จะสร้างศาลา หลวงพ่อได้ ซ่อมหลังคาโบสถ์  และวิหาร  ซึ่งได้รับแรงสั่นสะเทือนจนร่วงหล่นลงมาเป็นแถบ) การก่อสร้างศาลาได้ทำเป็น ๒ ชั้นเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยการว่าจ้างช่างรับเหมาก่อสร้างทั้งหลัง  ชั้นล่างแบ่งออกเป็นสองส่วน  คือ ศาลา ๑-๒ ใช้ในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมและอื่น ๆ รวมเป็นศาลาเดียวกันได้  เมื่อต้องใช้ในงานสำคัญชั้นบนใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมและอื่น ๆ รวมเป็นศาลาเดียวกันได้  เมื่อต้องใช้ในงานสำคัญชั้นบนใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมและอื่น ๆ รวมเป็นศาลาเดียวกัน  เมื่อต้องใช้ในงานสำคัญชั้นบนใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร  ในวันพระและรักษาอุโบสถศีลของพุทธศาสนิกชนในเทศกาลเข้าพรรษา เรียกว่า “ศาลาห้ารอบ” ติดไว้บนหน้าบัน  ด้านทิศตะวันออก  สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔ ล้านบาทเศษ (ที่เรียกว่า ศาลาห้ารอบ เพื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา  ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐)

          พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๔  ก่อสร้างอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม  นามว่า “ทองเอกลาภถึกสุวรรณอนุสรณ์”  โดยท่านผู้เป็นเจ้าภาพที่เป็นลูก ๆ ของท่านเจ้าของชื่อโรงเรียน (ชื่อสกุลทั้งสองฝ่าย  มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับหลวงพ่อเป็นการส่วนตัว  ได้ปรารภกับหลวงพ่อว่ามีเงินอยู่ก้อนหนึ่งอยากจะสร้างสิ่งอนุสรณ์เครื่องระลึกถึงบุพการีชน  เห็นควรจะสร้างสิ่งใด  แล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควร  หลวงพ่อจึงแนะนำให้สร้างอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมดังกล่าว  พร้อมกับท่านที่มีจิตศรัทธาอื่น ๆ รายละหนึ่งแสนบ้าง และรายย่อยอื่น ๆ อีกทั้งปัจจัยที่รวบรวมมาจากงานไหว้พระปิดทองพระพุทธบาทจำลองประจำปี  แล้วดำเนินการก่อสร้าง ทางด้านทิศตะวันออกของวัด  โดยรื้อศาลาสวัสดิ์ อ่วมถาวร  (ศาลา ๕) ออกเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ๙ ห้องเรียน (ถ้านับรวม ห้องมุขก็เป็น ๑๒ ห้อง) มีห้องน้ำประจำทุกชั้น มีมุข ๑ ด้านยื่นมาต่อกับศาลาเพราะวิทยาพรต  ทั้ง ๒ ชั้น   ชั้นบนสุดของมุขโรงเรียนเป็นลานโล่ง  เรียกว่า “ลานหลวงพ่อนาคปรก” เพราะหน้าบันศาลาเพาะวิทยาพรต  ด้านทิศตะวันออกที่ติดมุขอาคารเรียนประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเป็นพระประจำวันเกิดของหลวงพ่อ (วันเสาร์) สิ้นค่าก่อสร้าง (รวมทั้งค่าวัสดุครุภัณฑ์  เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ)  ประมาณ ๖ ล้านบาท

          พ.ศ. ๒๕๓๖  บูรณะศาลาพักศพ  ศาลาหลังนี้  ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมรุหน้าศาลาเป็นถนนออกไปประตูวัดด้านคลองประปา  (ปัจจุบันรถผ่านเข้า-ออกไม่ได้)  โดยบูรณะทั้งหลัง  เพื่อเป็นที่พักศพ  ก่อนประกอบพิธีบรรจุในสุสานซึ่งอยู่ด้านหลังศาลานั่นเอง  และทำโครงเหล็กเป็นหลังคายื่นออกมาประมาณ ๑๐ เมตร  ใช้เวลามีงานประจำปี  หลวงพ่อได้บูรณะซ่อมแซมอีกหลายอย่าง อาทิ

          บูรณะสำนักงานฌาปนสถาน  เพื่อเป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจ  และเป็นที่เก็บอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งาน  โดยรื้อของเก่าแล้วทำใหม่ทั้งหมด  แต่คงรูปร่างอย่างเดิม  เพราะเนื้อที่จำกัด

          สร้างกำแพงกั้นเขต  พุทธาวาสและสังฆาวาส  ทำเป็นกำแพงสูง  พร้อมทำช่องสำหรับบรรจุอัฐิไว้  ทั้งหน้าหลัง  เพราะไม่มีพื้นที่อีกแล้ว  การก่อสร้างเริ่มจากด้านทิศตะวันออก  ติดศาลาเพาะวิทยาพรต  ยาวไปถึงทิศตะวันตก  เลยวิหาร  แล้วหักอ้อมตามกำแพงวิหารด้านทิศได้จรดกำแพงวิหารด้านที่เป็นลานวัด

          ส่วนการก่อสร้างกุฎี  ที่อยู่ของพระสงฆ์หลวงพ่อได้สร้างไว้ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปี ๒๕๒๓-๒๕๒๕  คือ กุฎี ๑-๒ อันเป็นที่พำนักของหลวงพ่อจนถึงวาระสุดท้ายของท่าน  สร้างแทนหลังเดิมซึ่งเป็นกุฎีไม้ ๒ ชั้น  มีสภาพเก่าแก่และชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะซ่อมแซมได้  จำเป็นต้องสร้างใหม่อย่างรีบด่วน  ส่วนที่เหลือยังคงพอซ่อมแซมได้  ยกเว้น  ทางคณะตะวันออกบางหลัง  แต่ยังไม่ทันที่ท่านจะได้บูรณะซ่อมแซม  หลวงพ่อก็ได้จากไปเสียก่อน  คงเป็นหน้าที่ของคนที่ยังอยู่ที่จะสานต่องานของท่านสืบไป

          ส่วนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามเทศบัญญัติของกรุงเทพมหานคร  เพื่อลดมลภาวะในการเผาศพ  หลวงพ่อได้แก้ไขเตาผา (เมรุ) ให้ถูกต้อง  โดยเปลี่ยนจากการเผาด้วยถ่าน  มาเป็นการเผาด้วยน้ำมัน  ต้องใช้ทุนในการปรับปรุงจำนวนมาก  เพราะเตาเผาน้ำมันราคาแพงมาก  อีกทั้งต้องปรับฐานอิฐให้มีความทนความร้อนสูงมากกว่าเดิม  ใช้เวลาแก้ไขปรับปรุงกว่า ๓ เดือน และใช้ประโยชน์ได้ดีจนถึงปัจจุบัน

  

การสงเคราะห์ญาติและญาติโยมสาธุชน

          เนื่องจากหลวงพ่อมีพี่น้องหลายคน  จึงมีหลาน ๆ หลายคน  หลวงพ่อได้ให้ความรักความเมตตาโดยเสมอกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูล  ให้คำแนะนำ  โดยความอบอุ่น  ทั้งในฐานะพระสงฆ์และในฐานะญาติผู้ใหญ่  เช่น  เมื่อหลานเกิดใหม่  ก็จะไปหาท่าน  คุณธรรมอีกประการหนึ่ง คือความกตัญญูกตเวทีต่อโยมบิดา-มารดา  แม้ท่านทั้งสองจะล่วงลับไปนานแล้ว  หลวงพ่อ  พร้อมพี่น้องได้กำหนดวันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เป็นประจำทุกปี (วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี) พร้อมทั้งเพิ่มบุญทุนนิธิ  ในนามของบิดา-มารดาเพิ่มขึ้น  ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี  ที่ท่านทำเป็นตัวอย่างโดยไม่จำเป็นต้องพูดสอนแต่อย่างใด ในส่วนของญาติโยมสาธุชนทั่วไป ท่านสงเคราะห์ทั่วหน้ากัน  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  ใครมาก่อนสงเคราะห์ก่อนตามลำดับ  สมัยเมื่อท่านยังแข็งแรง  สามารถรับกิจนิมนต์โปรดญาติโยมทั่วไปได้  ท่านจะรับนิมนต์เสมอหน้ากัน  ใครมาก่อนก็ไปบ้านคนนั้น  โดยไม่คำนึงถึงฐานะว่า ยากดีมีจนอย่างไร  บางครั้งแม้จะตรงกันกับงานของญาติ  แต่มานิมนต์ท่านทีหลังท่านจะไปงานของโยมที่นิมนต์มาก่อนเสมอ  แล้วชี้แจงให้ญาติเข้าใจ  นับว่าเป็นพรหมวิหารธรรมของพระเถระที่หาได้ยากในปัจจุบัน

bottom of page