top of page
buddha-4264589_1920.jpg

บทความอื่นๆ

แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

วิปัสสนากรรมฐาน

     มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากไม่ทราบว่าแก่นธรรมของพระพุทธศาสนานั้นคืออะไร หรือนัยหนึ่งไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรเป็นหลักสำคัญ การที่พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน รวมเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะทรงสอนแก่นธรรม ๓ ประการ คือ

     ๑. การละความชั่ว

     ๒. การทำความดี

     ๓. การชำระใจให้บริสุทธิ์

     ในบรรดาศาสนาต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนพระพุทธศาสนาและที่เกิดในภายหลัง ต่างก็มีหลักสอนให้ละความชั่วและให้ทำความดีเป็นประการสำคัญ แต่ไม่มีศาสนาใดที่สอนถึงวิธีชำระใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีอยู่ก็แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

     พระพุทธเจ้าได้ทรงเล็งเห็นว่าโลกของเรานี้เป็นโลกของความทุกข์ คือการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากกันเป็นทุกข์ ความเสียใจเป็นทุกข์ ความเหี่ยวแห้งใจเป็นทุกข์ มูลเหตุที่ก่อให้เกิดทุกข์ ก็คือตัณหา-ความอยาก ซึ่งก่อให้เกิดกิเลสเกรอะกรังดวงจิต ได้แก่ โลภ โกรธ หลง เพื่อจะให้พ้นทุกข์ จึงจำจะต้องตัดมูลเหตุหรือกิเลสตัณหาออกไปให้สิ้น เมื่อละกิเลสตัณหาให้หมดไปได้แล้ว จิตก็จะบริสุทธิ์ เป็นการดับทุกข์ได้สิ้นเชิง และพระองค์ก็ได้ทรงค้นพบทางดับทุกข์หรือวิธีจะทำให้ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิง นี้คืออริยสัจสี่ ซึ่งเป็นธรรมวิเศษที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้

     วิธีจะทำให้ทุกข์ดับ หรือวิธีชำระใจให้บริสุทธินั้น ตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หรือการปฏิบัติธรรม การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า บรรลุมรรคผลนิพพาน

สติปัฏฐาน ๔ คือความมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมวิเศษนั้น ก็เป็นแนวปฏิบัติที่มีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น และพระบรมศาสดาได้ทรงยืนยันว่า เป็นหนทางเดียวที่เป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อการก้าวล่วงเสียซึ่งความโศก และความร่ำไรรำพัน เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

      การปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน ก็คือ การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อได้ดวงตาเห็นธรรมอันลึกซึ้งในพุทธศาสนา คือการเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง มิใช่เห็นแต่เพียงมายาและสมมติแล้วก็หลงติดอยู่ อันเป็นสาเหตุให้ต้องจมอยู่ในกองทุกข์อย่างถอนตัวไม่ขึ้นชั่วชีวิตแล้วชีวิตเล่า

วิปัสสนากรรมฐานมิใช่เป็นเรื่องของการนั่งหลับตา เพื่อให้เห็นภาพวิจิตรพิสดาร หรือเพื่ออิทธิฤทธิ์ใดๆ วิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อที่จะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า “ชีวิตนี้มันคืออะไรกันแน่”

    เหตุไฉนคนเราจึงควบชีวิตตะบึงไปบนถนนแห่งความชราพยาธิ และมรณะอย่างไม่ลดละ เหตุไฉนคนเราจึงไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายในชีวิตที่ผ่านมา ในความเหี่ยวแห้งใจและความคับแค้นใจ ในความสมหวังแล้วก็ผิดหวัง หัวเราะแล้วก็ร้องไห้ด้วยหน้าชื่นแล้วกลับบูดบึ้ง เหตุไฉนจึงไปลุ่มหลงกับการกระโจนขึ้นกระโจนลงของชีวิตที่ได้ผ่านมาในวิถีอันยืดยาว โดยไม่เคยสำนึกว่ามันมีอาการประดุจคนบ้า เหตุไฉนเราจงพลอยเห็นดิบเห็นดีไปกับเขาด้วย

     อะไรเล่าที่ผลักดันให้ชีวิตโลดแล่นไปอย่างน่าสมเพชเช่นนั้น อะไรเล่าที่ทำให้ดวงหน้าที่หัวเราะร่าเริงอยู่เมื่อวานนี้กลับนองน้ำตาในวันนี้ อะไรเล่าที่ทำให้ลิ้นกล่าววาจาอ่อนหวานอยู่เมื่อชั่วโมงก่อน กลับมากล่าววาจาหยาบคายในชั่วโมงนี้ อะไรเล่าที่มาคอยแต่งความคิดของเราให้แปรเปลี่ยนไปมาระหว่างบาปบุญคุณโทษ อะไรเล่าคือตัวการที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

 

ตามปกติเราอาจไม่เคยตั้งปัญหาเหล่านี้ขึ้นถามตนเองเลย เราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามที่มันเคยดำเนินมาอย่างไรก็อย่างนั้น ปล่อยให้ความเคยชินนำชีวิตของเราไปตามที่มันได้นำมาปีแล้วปีเล่า จากเด็กไปจนสู่วัยชรา และเราก็เต็มใจที่จะปล่อยให้มันนำไป จนกระทั่งถึงเชิงตะกอน ก็เป็นการเคราะห์ร้ายอยู่ ที่เจ้าความเคยชินอันเราเคยมอบหมายให้เป็นผู้นำชีวิตของเรานั้น โดยทั่วไปแล้วมันมิได้ทำหน้าที่เป็นดวงประทีปให้เลย มันเป็นแต่ความมืดบอด จึงไม่น่าประหลาดใจที่มันได้นำชีวิตของเรากระหืดกระหอบไปตามเรื่องของมัน เราให้ปล่อยให้มันนำไปโดยที่ไม่เคยสำนึกตัวว่า ได้ตกเป็นทาสของมันอย่างโงหัวไม่ขึ้นและอย่างน่าสมเพชเหลือเกิน

“การเจริญพระกรรมฐาน จะมาช่วยแก้ปัญหาให้เราได้แน่
อย่างอื่นช่วยแก้ปัญหาเราไม่ได้”

     การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิตให้แตกกระจายออกไป จนมองเห็นความจริงในสิ่งต่างๆ ที่แตกกระจายออกไปนั้น เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิตตามวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา คือเพ่งมองเข้าไปในชีวิตของตนเอง เฝ้าดูการเคลื่อนไหวทั้งมวลภายในตัวของเราเอง เฝ้าสังเกตุวิจารณ์แต่กุศลและอกุศลธรรมที่ดำเนินไปในตัวของเราเอง ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยใช้เวลาเพ่งมองเข้าไปในชีวิตของตนเองดังนี้ ปัญหาต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะผุดขึ้นมาในความนึกคิดของเรา และเราก็จะพบคำตอบปัญหาเหล่านั้นอย่างครบถ้วนและแจ่มแจ้ง เราจะพบว่าชีวิตที่ปล่อยให้ความเคยชินหรือใจที่ปราศจากสตินำไปนั้น ช่างแตกต่างอย่างลิบลับกับชีวิตที่ผูกไว้กับสติ และปล่อยให้สติเป็นผู้นำวิปัสสนากรรมฐานเริ่มต้นด้วยการปลดแอกตัวเรา จากการเป็นทาสของความเคยชิน หรือใจที่ไม่อยู่ในความควบคุมของสติ

     พอเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ชีวิตเราจะได้รับความเป็นไท และเราจะทราบว่าตั้งแต่มีชีวิตมาไม่เคยได้รับความเป็นไทเช่นนี้มาก่อนเลย นับตั้งแต่นั้นเราก็ได้จุดดวงประทีปให้แก่ชีวิตของเรา ดวงประทีปนั้นแท้จริงก็มีประจำอยู่กับชีวิตของเรานั่นเองแต่เราไม่ได้จุดมันขึ้น อาจเป็นด้วยเราไม่ทราบว่ามีดวงประทีปติดอยู่กับตัวเรา ประทีปดวงนั้นคือ สติ ซึ่งแสงสว่างจะค่อยกล้าขึ้นและโพลงขึ้นเป็นลำดับ จนเราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แฝงอยู่ในความมืดซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน เราพูดอยู่เสมอถึงคำว่าสติปัญญา เราใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จริง แต่สตินั้นแท้จริงแล้วนำออกใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิต และจำเป็นแก่ชีวิตอย่างเหลือที่จะประมาณได้

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือการระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ประโยชน์ในการดับทุกข์ ให้ได้ผลดีที่สุดที่จะทำได้ เราจะตระหนักคุณค่าอันอัศจรรย์ของสติที่เราไม่เคยคิดเห็นเช่นนั้นมาก่อน ใจที่ลำพองมีพยศและมีความตะกละตะกราม เหมือนกับไฟอันไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อ จะเชื่องลงและรู้จักจำกัดความต้องการของมัน เมื่อถูกสติเข้าถือบังเหียนไว้ สติจะบังคับมิให้ใจแส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่างๆภายนอก และใจก็จะค่อยคุ้นกับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียวที่สติคอยบังคับให้สงบอยู่เมื่อใจตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความเป็นจริงก็จะเป็นผลติดตามมา เมื่อนั้นแหละเราจะทราบว่าความทุกข์มันมาจากไหน และจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละคือผลงานของสติ นั่นแหละคืออานิสงส์ของวิปัสสนากรรมฐาน

ท่านที่ยังไม่เคยทดลองปฏิบัติ หากประสงค์จะฟังคำชักชวนจากผู้ปฏิบัติดูบ้าง ก็ขอเสนอคำชักชวนดังนี้

     ลองถามตัวเองว่า ในชีวิตของท่านมีสักวันหนึ่งไหม ที่ได้ใช้ไปด้วยการตามระวังรักษาจิตและประคองจิต ให้น้อมไปแต่ในทางที่เป็นกุุศลตลอดวัน มีสักชั่วโมงหนึ่งไหมที่ได้ใช้สติเฝ้าดูการดำเนินของจิต เฝ้าดูปฏิกิริยาอันสับสนของจิตที่มีต่ออารมณ์ภายนอกตลอดหนึ่งชั่วโมง หากไม่เคยทำดังนี้เลย ท่านจะไม่นึกเสียดายหรือว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาในชีวิต ท่านเต็มใจใช้เวลาเหล่านั้นไปได้สารพัดอย่าง ไม่เลือกว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ แต่ท่านมิได้ยอมใช้เวลาแม้แต่สักวันหนึ่งหรือชั่วโมงหนึ่ง เพื่อพิสูจน์สัจธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการแสวงหาหลักประกัน ในการดับหรือบรรเทาความทุกข์ร้อนใจอย่างได้ผลให้แก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ท่านจะไม่นึกเสียใจหรือว่าท่านยังมิได้ทำการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชา อันเป็นบูชาที่พระองค์ปราธนาเลย เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงสัก ๑ เดือน ก็จะเป็นเวลาที่กล่าวได้ว่าเป็นเวลาที่ได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตของท่านอย่างมีคุณค่าที่สุดและไม่เคยมีการใช้เวลาหนึ่งเดือนที่ล่วงแล้วมาในชีวิต ที่จะมีความหมดจดงดงามเสมอด้วยหนึ่งเดือนของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

bottom of page