top of page
buddha-4264589_1920.jpg

บทความอื่นๆ

ความรู้เบื้องต้นในพระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๑

ประวัติของพระพุทธเจ้า

          ๑.   พระพุทธเจ้ามีพระนามว่า “สิทธัตถะ” ตระกูลโคตมะ เป็นชาวอริยกะ หรือชาวอินเดีย ในส่วนที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยโบราณ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าชาวมัธยมประเทศ และเรียกอินเดียว่าชมภูทวีป พระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางมายา ซึ่งเป็นพระราชาและพระราชินีครองนครกบิลพัสดุ์ แห่งแควนสักกะ แคว้นนี้ในปัจจุบันเข้าใจว่าอยู่ในเขตของประเทศเนปาลทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย

          ๒.   พระพุทธเจ้าประสูติวันเพ็ญ เดือน ๗ ตามจันทรคตินิยม ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ที่ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นตำบลกลางทางระหว่างนครกบิลพัสดุ์และนครเทวทหะต่อกัน การที่ไปประสูติในที่เช่นนั้น ก็เพราะเป็นขณะเวลาที่พระนางมายากำลังเสด็จไปเทวทหะนคร อันเป็นถิ่นเดิมของพระองค์ เพื่อเยี่ยมเยือนพระญาติวงศ์ และเพื่อคลอดบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์

          ๓.   เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติแล้วภายใน ๗ วัน มีเหตุการณ์ที่ควรรู้คือ เมื่อกลับมาสู่นครกบิลพัสดุ์แล้ว มีนักบวชที่คุ้นเคยกับราชสำนักนั้นมาเยี่ยม ชื่ออสิตดาบสหรือกาฬเทวิลดาบส ท่านผู้นี้ได้พิจารณาเห็นพระกุมารมีลักษณะต้องตามตำราของผู้มีบุญใหญ่ยิ่งก็มีความเคารพนับถือถึงกับก้มลงกราบที่พระบาทของพระกุมารนั้น ถวายคำทำนายว่าพระกุมารนี้จะมีบุญใหญ่ยิ่งต่อไป ถ้าอยู่ครองเรือนเป็นฆราวาสจะได้เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือมหาจักพรรดิราช ถ้าออกบวชจะได้เป็นพระศาสดา หรือผู้สอนศาสนาเอกในโลก เมื่อประสูติได้ ๕ วัน พระบิดาจัดให้มีการเลี้ยงพราหมณ์ในพระราชฐานเป็นการรับขวัญ พวกพราหมณ์ได้ขนานพระนามว่า “สิทธัตถะ” แก่พระกุมาร พร้อมทั้งถวายคำทำนาย ซึ่งมีข้อความคล้ายของท่านอสิตดาบสนั้นด้วย และพอพระองค์มีพระชนม์ได้ ๗ วัน พระมารดาก็สิ้นพระชนม์ พระบิดาจึงได้มอบพระกุมารนั้น ให้พระนางปชาบดี ซึ่งเป็นพระเจ้าแม่น้าบำรุงรักษาแทนต่อมา

          ๔.   เมื่อมีพระชนมายุพอสมควร พระบิดาก็มอบพระกุมารนั้นไปศึกษายังสำนักครูวิสวามิตร กล่าวกันว่าพระองค์เป็นศิษย์ที่ฉลาดมาก เล่าเรียนอะไรได้ความรู้อย่างว่องไวไม่มีใครจะเทียมทันเป็นที่อัศจรรย์แก่พระประยูรญาติและประชาชนทั้งหลาย

          ๕.   ครั้นพระกุมารสำเร็จการศึกษาแล้ว มีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี พระบิดาปรารถนาจะผูกพันให้หลงอยู่ในความสุขของโลกมากกว่าจะให้บวช ตามคำทำนายของพระดาบสพระเจ้าสุทโธทนะจึงให้สู่ขอพระนางยโสธราหรือพิมพา ราชบุตรีของพระนางอมิตามเหสีของพระเจ้าสุปปพุทธะ พระราชาผู้ครองนครเทวทหะมาแต่งงานด้วย พระราชทานปราสาทราชฐานทรัพย์ศฤงคารบริวารยศ อย่างโอรสพระเจ้าแผ่นดิน มีปราสาทสำหรับเปลี่ยนที่ประทับทั้ง ๓ ฤดู กับมีบริวารล้วนเหล่านารีรุ่นสาวคอยบำรุงบำเรอ และบรรเลงเพลงดนตรีทุกทิวาราตรีกาล พระกุมารเสวยสุขสำราญเสมอมาจนพระชายาประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง เมื่อพระโอรสประสูตินั้นทรงรับสั่งว่าห่วงผูกคอมาแล้ว พระโอรสจึงได้นามว่า “ราหุล” ซึ่งเป็นคำมคธว่าผู้จับ หรือเครื่องผูก

          ๖.   เจ้าชายสิทธัตถะเสวยสุขสำราญ มาจนพระชายาประสูติพระโอรสนั้น พระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๙ ปี การมีพระโอรส และการได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพของคนทั่วไปอันประกอบด้วย ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งล้วนแต่นำความเดือนร้อนกระวนกระวายไม่เป็นสุข มาสู่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ต้องประสบภาวะเช่นนั้น ทำให้พระองค์คิดว่าไฉนหนอจึงเป็นเช่นนั้น พร้อมทั้งเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นถึงกับไม่เพลิดเพลินพระทัยเช่นเคย พระองค์ปรารถนาที่จะหาทางแก้ไขสภาพที่เคยพบเคยเห็น จึงหันมาสนพระทัยค้นคว้าในทางศาสนา ซึ่งในสมัยนั้นมีศาสนาที่สำคัญคือศาสนาพราหมณ์และลัทธิต่างๆ อีกมากมาย แต่ศาสนาและลัทธิเหล่านั้นยังไม่สามารถจะทำให้พระองค์เกิดความพอใจที่จะนำมาแก้ไขความเดือดร้อนที่พบเห็นได้จึงตัดสินพระทัยออกแสวงหาวิธีการด้วยพระองค์เองโดยการละทิ้งราชสมบัติพัสถานบริวารยศนั้นเสีย ลอบหนีพระชายาและพระโอรสไปในราตรีอันมืดสนิทคืนหนึ่ง พร้อมด้วยมหาดเล็ก ผู้ติดตามคนหนึ่งชื่อนายฉันนะ และมีม้าขาวฝีเท้าดีชื่อกัณฐกะเป็นพาหนะเดินทาง

          ๗.   ครั้นเสด็จถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาแล้ว ได้ตัดพระเกศาซึ่งเกล้าเป็นพระเมาลีออกเหลือสั้นเพียง ๒ องคุลี อธิษฐานเพศเป็นนักบวชนับแต่เวลานั้นเป็นต้นมา และมีรับสั่งให้นายฉันนะคือกลับพระนครกบิลพัสดุ์ เพราะพระองค์ตั้งพระทัยจะปฏิบัติพระองค์เหมือนนักบวชทั้งหลาย คือละการครองเรือน หาเลี้ยงชีพด้วยการขอเขาเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆ แล้วพยายามกระทำใจให้สงบเพื่อหาความรู้เป็นทางไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง ในระยะแรกๆ ได้เสด็จไปศึกษาในสำนักของอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดสมัยนั้น ๒ ท่าน คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส พระองค์ศึกษาจนหมดความรู้ของอาจารย์ทั้งสองจะสอน แต่ได้ทดลองดูทุกอย่างแล้วก็ยังเห็นว่าไม่พอเพียง จึงออกจากสำนักอาจารย์นั้น ท่องเที่ยวไปโดยลำพังเอง

          ๘.   พระองค์เสด็จไปตามชนบทต่าง ๆ จนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แขวงเมืองคยา อันเป็นเขตแดนมคธประเทศ ทอดพระเนตรเห็นพื้นภูมิประเทศราบรื่น ริมชายป่าหญ้าเขียวมีน้ำใสสะอาด ท่าน้ำขึ้นลงง่ายจะกินและอาบก็ได้โดยสะดวก มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ ๆ พอจะขออาหารได้โดยรอบ เป็นที่ชอบพระทัยว่าจะอยู่อาศัยตั้งความเพียรได้ จึงประทับยับยั้งอยู่ ณ ที่ตำบลนั้น และต่อมาก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ตำบลนั้น

          ๙.   ระหว่างเวลาที่ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมนั้น พระองค์ได้พยายามทดลองวิธีต่าง ๆ เพื่อจะค้นคว้าหาความจริงที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรก ทรงกระทำทุกกรกิริยามีการทรมานตนต่าง ๆ และทดลองอดอาหารจนซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก กล่าวได้ว่าไม่เคยมีใครทรมานตนหนักถึงเพียงนั้น แม้กระนั้นก็ยังไม่บังเกิดผลเป็นที่พอใจประการใด ครั้งนั้น พระองค์ทบทวนถึงความหลังตั้งแต่ต้นจำได้ว่าเมื่อพระชนมายุได้ ๗ ปีเคยนั่งทำสมาธิจิตแน่วแน่ได้คราวหนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นว่าการทรมานตนไม่บังเกิดผล สู้การทำความเพียรทางจิตไม่ได้ จึงเปลี่ยนวิธีใหม่หันมาค้นคว้าทางสมาธิจิตต่อไป

          ๑๐.   ครั้งนั้นมีฤๅษี ๕ ตน ชื่อโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เคยทราบเรื่องคำทำนายของพระสิทธัตถะมาก่อน และรู้ว่าออกบวชก็พากันตามมาอยู่คอยปฏิบัติเพื่อว่าเมื่อบรรลุธรรมพิเศษแล้วพวกตนก็จะได้พลอยรับความรู้นั้นด้วย เมื่อเห็นเลิกทรมานตนกลับกินอาหารอย่างเดิม ก็สำคัญว่าจะไม่ได้ความรู้ตามที่พวกตนคาดหมายไว้จึงพากันปลีกตนไปเสีย การปล่อยให้อยู่ลำพังพระองค์เดียวนี้กลับทำให้พระองค์ได้รับความสงัดยิ่งขึ้น

          ๑๑.   การหันมาบำเพ็ญความเพียรทางจิตนี้เอง เป็นเหตุให้พระองค์สามารถค้นคว้าหาเหตุผลต่าง ๆ จนเป็นที่พอพระทัยว่า รู้ละ หยุดค้นคว้าอีกต่อไป เรียกว่า ตรัสรู้ วันนั้นตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๗ และตรงกับวันประสูติ พระชนมายุได้ ๓๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

          ๑๒.   มีเรื่องเล่าว่า ในเช้าวันที่จะตรัสรู้นั้นนางสุชาดาลูกสาวหัวหน้าหมู่บ้านอุรุเวลาเสนานิคมได้หุงข้าวมธุรปายาสใส่ถาดทองคำตั้งใจจะนำไปสังเวยเทวดาเพื่อแก้บน ครั้นพบพระสิทธัตถะนั่งอยู่พระองค์เดียวใต้ต้นไม้ใหญ่สำคัญว่าเป็นเทวดา ก็น้อมนำข้าวมธุปายาสเข้าไปถวายทรงรับแล้วแลหาภาชนะจะถ่ายของ นางสุชาดารู้ว่าไม่มี ก็ถวายทั้งถาดด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง ครั้นนางสุชาดากลับไปแล้ว พระองค์ก็นำข้าวมธุปายาสถาดนั้นไปริมฝั่งแม่น้ำ เสวยแล้วก็ลอยถาดนั้นไปตามกระแสน้ำ แสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้ปรารถนาหวงแหนถาดนั้นไว้ หลังจากนั้นพระองค์เสด็จกลับต้นไม้ใหญ่ที่ประทับ ในระหว่างทางได้รับหญ้าคาซึ่งคนตัดหญ้าชื่อโสตถิยะถวายให้พระองค์สองสามฟ่อน พระองค์ได้นำหญ้าคานั้นปูลาดเป็นประทับที่ใต้ต้นไม้แล้วพระทับทำความเพียรทางจิตบนนั้น ในเย็นวันนั้นพระองค์สามารถเอาชนะมารที่คอยขัดขวางความตั้งใจของพระองค์ด้วยการเสี่ยงบารมี ๑๐ ประการ เข้าต่อสู้ แล้วบำเพ็ญความเพียรต่อไปจนได้ตรัสรู้ในราตรีนั้นเอง ต้นไม้ใหญ่ที่ประทับจนได้ตรัสรู้เราเรียกว่าต้นโพธิ์ หรือต้นตรัสรู้

          ๑๓.   พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ๔ อย่าง ซึ่งเรียกว่าอริยสัจจ์ ๔ หรือจตุราริยสัจจ์ ได้แก่

                  (๑)   ทุกข์    คือความยากลำบากต่างๆ

                  (๒)   สมุทัย  คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา

                  (๓)   นิโรธ   คือความดับทุกข์ ได้แก่ดับตัณหา

                  (๔)   มรรค   คือความดำเนินการดับทุกข์ ตามข้อปฏิบัติสายกลาง ๘ ข้อได้แก่

                         ๑)   ปัญญาเห็นชอบ

                         ๒)   ความดำริชอบ

                         ๓)   วาจาชอบ

                         ๔)   การงานชอบ

                         ๕)   เลี้ยงชีวิตชอบ

                         ๖)   พากเพียรชอบ

                         ๗)   ระลึกชอบ

                         ๘)   ตั้งใจชอบ

          ๑๔.   การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ เป็นการรู้ธรรมพิเศษ ซึ่งไม่มีใครจะสามารถรู้ได้อย่างพระองค์ เป็นความรู้ยอดยิ่งที่ทำให้พระองค์พ้นจากความทุกข์ และความไม่ดีทั้งปวง ความดีอันนี้ทำให้เราเรียกพระองค์ด้วยพระนามพิเศษว่า “อรหัง” ซึ่งหมายถึงผู้ไกลจากความชั่วต่าง ๆ และ “สัมมาสัมพุทโธ” ซึ่งหมายถึงว่าพระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ไม่ได้เรียกจากผู้อื่น อันนาม “พระสัมมาสัมพุทธ” นี้ เราเรียกง่ายๆ ว่า “พระพุทธเจ้า” ซึ่งหมายถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

          ๑๕.   เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ๔ อย่างแล้ว พระองค์มิได้เสด็จออกเที่ยวสั่งสอนผู้อื่นเลยทีเดียว ในครั้งแรกได้ประทับอยู่บริเวณต้นโพธิ์และใกล้ๆ นั้นก่อน เพื่อทบทวนพิจารณาถึงหลักธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบ ตลอดจนความสุขอย่างไม่มีอะไรจะเปรียบ ในการที่หลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ ในครั้งแรกพระองค์พิจารณาเห็นว่าความรู้ของพระองค์นั้นยากที่คนธรรมดาจะรู้ตามได้ เกิดความท้อใจที่จะสั่งสอน แล้วกลับเกิดเมตตาจิตอยากจะให้ผู้อื่นมีความสุขด้วยถึงแม้จะลำบากยากยิ่งก็ไม่ควรละทิ้งทีเดียวจึงเปลี่ยนพระทัยใหม่ ตั้งใจจะสั่งสอนผู้อื่นต่อไป การสั่งสอนในตอนแรกนี้ก็มุ่งเจาะจงแก่ผู้ที่สมควรจะฟังคำสั่งสอนจริงๆ ได้นึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบสว่ามีความรู้อยู่บ้าง ง่ายแก่การสั่งสอน แต่ท่านทั้งสองก็ได้สิ้นชีพไปก่อนหน้านั้นก่อนแล้ว จึงหวนนึกถึงฤๅษีทั้ง ๕ ที่เคยไปปฏิบัติรับใช้อยู่คราวหนึ่งได้ทราบว่าหลีกไปอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงเสด็จจากตำบลอุรุเวลานิคมมุ่งไปยังที่อยู่ของฤๅษีทั้ง ๕ ตนนั้น

          ๑๖.   ครั้งพบกับฤๅษีทั้ง ๕ นั้นแล้ว พระองค์ก็ได้ประกาศความจริงที่ได้ค้นพบนั้นให้ทราบการสั่งสอนครั้งแรกนี้เรียกว่า “ปฐมเทศนา” มีใจความย่อ ๆ ว่า ผู้ที่เป็นนักบวชไม่ควรมีลูกเมียทรัพย์สมบัติบ้านเรือน เพราะทำให้ใจห่วงไม่เป็นสุข และไม่ควรทรมานกาย เพราะทำให้ใจห่วงถึงความเจ็บปวดของร่างกายไม่เป็นสุข ควรดำเนินการกระทำให้เป็นสายกลาง เรียกว่ามัชฌิมาฏิปทา ปฏิบัติตนตามแนวทาง ๘ ประการที่เรียกว่า มรรค ๘ และสุดท้ายพระองค์ได้แสดงอริยสัจจ์คือความจริง ๔ ประการ ในการสั่งสอนครั้งแรกนี้ ฤๅษีโกณฑัญญะเป็นผู้ที่สามารถมีความเข้าใจซาบซึ้งในคำสอนเป็นคนแรก เรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรมหรือได้ธรรมจักษุ และท่านได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อเรียกว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ คำว่า “อัญญา” ข้างหน้านั้นเป็นคำอุทานแสดงความดีพระทัยในการสั่งสอนคนได้ผลเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้าวันที่เทศน์ครั้งแรกตรงกับวันเพ็ญกลางคือ ๘ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี และพระสงฆ์ก็เกิดขึ้นองค์แรกในวันนั้น

          ๑๗.   วันต่อ ๆ มา พระองค์ได้อบรมฤๅษีที่เหลืออยู่ให้เข้าใจในธรรมที่พระองค์แสดง และขอบวชเป็นพระสงฆ์ทั้งหมด แล้วพระองค์ก็เทศน์โปรดอีกครั้งหนึ่ง เป็นผลให้พระสงฆ์รุ่นนี้ทั้ง ๕ รูป ได้บรรลุถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริงพร้อมกันทั้งหมด เราเรียกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ถึงพระนิพพาน คือเป็นคนบริสุทธิ์ ไม่ทำความชั่วอีกต่อไป คำว่านิพพานนี้หมายถึงว่า ความเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ไม่หวนกลับไปทำความชั่วใด ๆ อีก และแม้ตายแล้วก็จะไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าสูญเพียงแต่ไม่เกิดอีกเท่านั้น บางคนเข้าใจว่าพระนิพพานหมายถึงตาย ที่จริงหมายถึงอย่างข้างต้น และผู้ที่ได้พระนิพพานหรือสำเร็จพระอรหันต์เวลาตายเรานิยมใช้คำว่า ปรินิพพาน หรือ ดับขันธปรินิพพาน เป็นความหมายของการตาย พระสงฆ์รุ่นแรกนี้เราเรียกท่านว่า พระปัญจวัคคีย์

          ๑๘.   นักบวชในพระพุทธศาสนานั้น เราเรียกว่าภิกขุ หรือ ภิกษุ หมายถึง ผู้ขอ คือทำตนเป็นผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ไม่หาเลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพอย่างผู้ครองเรือนทั่ว ๆ ไป แต่ขอเขาพอดำรงชีวิตไปวันหนึ่งๆ แล้วตั้งใจทำตนให้บริสุทธิ์และสอนคนอื่นให้ทำดีด้วย แต่ภาษาไทยเรานิยมใช้คำว่า พระสงฆ์ แทนคำว่าภิกษุ หรือ ภิกขุ ถึงแม้จะไม่ได้แปลอย่างเดียวกันแต่ก็ฟังดูแล้วเราเข้าใจความหมายว่าเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาโดยทั่วกันดี เพราะใช้มาช้านาน ส่วนความหมายที่แท้จริงนั้นใครอยากรู้ก็ค้นคว้าเอาเป็นความรู้ต่างหาก

          ๑๙.   หลังจากสั่งสอนพระกลุ่มปัญจวัคคียย์สำเร็จสมความตั้งใจแล้ว พระองค์ก็ได้เทศนาสั่งสอนอีกเรื่อย ๆ ไป โดยส่งพระสงฆ์ที่อบรมแล้วเหล่านั้น แยกย้ายกันไปตามทิศต่างๆ เป็นกำลังในการขยายคำสั่งสอนของพระองค์ ครั้นต่อมาได้เสด็จจากเมืองพาราณสีไปยังเมืองราชคฤห์ซึ่งเป็นนครหลวงของแคว้นมคธ มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ในประเทศ พระองค์ได้แสดงธรรมสั่งสอนพระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพารให้เกิดความเลื่อมใสและนับถือพระองค์เป็นพระศาสดาของเขา พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายวนอุทยาน ชื่อเวฬุวัน ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งศูนย์กลางการเผยแผ่พระศาสนาที่เมืองราชคฤห์นี้เป็นแห่งแรก โดยมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นองค์อุปถัมภ์ และก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่นับถือและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

          ๒๐.   พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแก่บุคคลทุกชั้นเสมอกันหมดโดยไม่มีการแบ่งชั้นหรือเลือกบุคคล พระองค์ทรงเห็นคนเท่าๆ กันไม่เลือกว่าทาสหรือไท นาย หรือ บ่าว ทรงสั่งสอนให้มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ให้พึ่งพาอาศัยกัน และต่างมีความเคารพเชื่อฟังกันตามฐานะหน้าที่อันจะพึงปฏิบัติต่อกัน การปฏิบัติของพระองค์เช่นนี้ นำความชื่นชมยินดีมาสู่ประชาชนทั่วไป นับว่าพระองค์เป็นนักประชาธิปไตยก่อนผู้อื่นทีเดียว

          ๒๑.   ในระหว่างเวลาที่พระองค์สั่งสอนประชาชนไปตามที่ต่างๆ นั้น พระองค์มีพระสาวกที่เป็นผู้ช่วยเหลืออย่างสำคัญ ๓ ท่าน คือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ๒ ท่านนี้ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา และซ้ายตามลำดับ อีกท่านหนึ่งคือพระอานนท์เป็นผู้คอยปฏิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด และมีความจำดีเลิศ สามารถจดจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้ทั้งหมด เรื่องราวในพระพุทธศาสนาที่เราได้ศึกษาปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็ได้จากการจดจำของพระอานนท์ซึ่งได้นำมาเล่าและทรงจำสืบต่อกันมา

          ๒๒.   พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนประชาชนต่อมาจนพระชนมายุได้ ๘๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์ เรียกว่าเข้าสู่พระปรินิพพาน ที่ป่าไม้สาละ เรียกว่า “สาลวัน” อันเป็นพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ ณ กรุงกุสินาราในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ตามจันทรคติกาล ตรงกับวันประสูติและตรัสรู้ ๓ คราวมาตรงกัน เป็นการอัศจรรย์ยิ่งนัก พุทธศาสนิกชนจึงถือว่าเป็นวันสำคัญในทางศาสนา เพื่อเป็นการกระทำการเคารพบูชาระลึกถึงพระพุทธเจ้าต่อมาจนทุกวันนี้ เรียกว่า “วันวิสาขบูชา” รวมเวลาที่พระองค์สั่งสอนประชาชน ๔๕ ปี

          ๒๓.   ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นพระอรหันต์มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน พระอุบาลีและพระอานนท์เป็นผู้ช่วย พร้อมด้วยพระอรหันต์องค์อื่นๆ ล้วนแต่มีความรู้เชี่ยวชาญแตกฉานในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมด้วยกันทั้งสิ้น ๕๐๐ องค์ ได้รวมใจกันรวบรวมร้อยกรองคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตลอด ๔๕ ปี จัดเข้าไว้เป็นหมวดหมู่เป็นระเบียบแบบแผน คำสั่งสอนนั้นเรียกว่าพระธรรมวินัย ข้อความต่างๆ ของคำสั่งสอนที่รวบรวมไว้เรียกว่า พระไตรปิฎก คือแบ่งคำสั่งสอนเป็น ๓ หมวดใหญ่ หมวดแรกเรียกว่าพระวินัย รวบรวมข้อบังคับต่างๆ ที่ต้องกระทำตาม หมวดที่ ๒ เรียกว่า พระธรรม สำหรับคำสั่งสอนคนทั่วๆ ไป ให้ละความชั่วประกอบความดี หมวดที่ ๓ เป็นธรรมชั้นสูงเรียกว่าพระอภิธรรม เป็นคำสั่งสอนที่มุ่งอบรมจิตใจของคนให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่กระทำความชั่วอีกต่อไป การกระทำอย่างนี้เรียกว่าทำสังคายนา ได้มีการกระทำอย่างนี้อีกหลายคราวตามยุคตามสมัย เพื่อช่วยกันรักษาคำสั่งสอนที่ถูกต้องให้ยั่งยืนต่อไป

          ๒๔.   ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดให้เป็นศาสดาสืบแทนพระองค์ แต่ทรงมอบพระธรรมวินัยของพระองค์ไว้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าใครปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็เชื่อว่าผู้นั้นอยู่ในโอวาทของพระศาสดา เมื่อมีผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่ตราบใด ก็เท่ากับมีพระองค์คอยสั่งสอนอยู่ตราบนั้น พระโอวาทครั้งสุดท้ายที่ทรงสั่งสอนแก่สาวกทั้งหลาย คือให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆ ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม ความไม่ประมาทเป็นยอดของคำสั่งสอนทั้งหลาย

          ๒๕.   บุคคลสำคัญที่เป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งเราจะลืมเสียมิได้ คือพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์แห่งแคว้นมคธในสมัยพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปีเศษ กษัตริย์พระองค์นี้ได้มีความศรัทธาในพระศาสนาอย่างฝังจิตฝังใจ ได้จัดให้มีการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย และจัดส่งพระสงฆ์เถระผู้ใหญ่แยกย้ายกันไปเผยแผ่พระธรรมวินัยยังประเทศต่างๆ เป็นผลให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายยิ่งขึ้นไปอีก แม้ประเทศต่างๆ ทางภาคพื้นแหลมทองนี้ก็เข้าใจกันว่าได้รับพระพุทธศาสนาจากยุคนี้เช่นกัน นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระอุตสาหวิริยะโปรดสร้างพระสถูปและหลักศิลาจารึก พระธรรมวินัยไว้ตามที่ต่างๆ ที่มีความสำคัญเกี่ยวแก่พุทธประวัติ เช่นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเข้าสู่ปรินิพพาน เป็นต้น พระสถูปและหลักศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่เป็นเครื่องยืนยันว่าพระพุทธเจ้า และพระธรรมวินัยของพระองค์มีจริงในประวัติศาสตร์

 

 

 

 

ตอนที่ ๒

พระธรรมวินัย

          ๑.   พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ๓ อย่างนี้เรียกว่า พระรัตนตรัย คือแก้วอย่างประเสริฐ ๓ ดวง เป็นที่พึ่งของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือเป็นธงชัยสำหรับนำหน้าไปหาความสุขและความเจริญ

                  (๑)   พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้วิเศษอย่างมหัศจรรย์ไม่มีมนุษย์ใดที่จะฉลาดรู้เทียมทันพระองค์ได้ ทรงบากบั่นพากเพียรอดทนจนค้นพบความจริงของโลกได้ กระทำพระองค์ให้เป็นตัวอย่างแล้วทรงสั่งสอน อันมีค่าประดุจแก้วอย่างประเสริฐ จึงได้นามว่า “พระพุทธเจ้า”

                  (๒)   พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้มนุษย์รู้ความจริงของโลก ทั้งหลักจรรยาหรือธรรมวินัยข้อบัญญัติขึ้นไว้อย่างวิเศษอันมีค่าประดุจแก้วอย่างประเสริฐ จึงได้เรียกว่า “พระธรรมเจ้า”

                  (๓)   พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งสมาคมสงฆ์ขึ้นไว้ ซึ่งดำรงคำสั่งสอนควบคุมธรรมวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้ต่อๆ กันมาจนบัดนี้ เป็นสมาคมที่ดีทันสมัย มีผู้นับถือมากอย่างวิเศษอันมีค่าประดุจแก้วอย่างประเสริฐ จึงมีนามว่า “พระสงฆ์เจ้า”

          ๒.   คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า เมื่อสรุปลงแล้วคงได้ใจความโดยย่อ ๓ หัวข้อซึ่งเราเรียกว่า โอวาทของพระพุทธเจ้า นับเป็นหัวใจของพระธรรมวินัย คือ

                  (๑)   เว้นจากการทุจริต คือเว้นจากการประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เรียกว่า การทำบาป

                  (๒)   ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ซึ่งเรียกว่า ทำบุญสร้างกุศล

                  (๓)   ทำใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

          ๓.   ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ในพระรัตนตรัยประพฤติตามโอวาทของพระพุทธเจ้า ยึดพระรัตนตรัยเป็นธงชัยนำไปสู่ความสุขความเจริญ เป็นชายเราเรียกว่า “อุบาสก” เป็นหญิงเรียกว่า “อุบาสิกา” ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา อย่างน้อยพึงเป็นผู้รักษาศีล ๕ ประกอบด้วยสมบัติของอุบาสก ๕ ตั้งอยู่ในฆราวาสธรรม ๔ และเว้นจากอบายมุข ๔ เหล่านี้เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั่ว ๆ ไป ที่เป็นคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือน ถ้าต้องการสร้างคุณธรรมให้สูงขึ้นกว่านี้ก็สละทรัพย์สมบัติบ้านเรือนบวชเป็นภิกษุ ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ทำใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ สร้างสมอบรมบารมีของตนต่อไปโดยลำดับ

          ๔.   ศีลของคฤหัสถ์ ๕ หรือเบญจศีล คือ

                  (๑)   ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง

                  (๒)   อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย

                  (๓)   กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

                  (๔)   มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ

                  (๕)   สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมา (สุราเมรัย) อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

          ๕.   สมบัติของอุบาสก - อุบาสิกา ๕ คือ

                  (๑)   ประกอบด้วยศรัทธา คือเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ

                  (๒)   มีศีลบริสุทธิ์ คือรักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อย

                  (๓)   ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล

                  (๔)   ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา

                  (๕)   บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา

          ๖.   ฆราวาสธรรม ๔ อย่าง คือ

                  (๑)   สัจจะ  ซื่อสัตย์ต่อกัน

                  (๒)   ทมะ  รู้จักข่มจิตของตน

                  (๓)   ขันติ  มีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ และความกระทบกระเทือนใจ

                  (๔)   จาคะ  สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้

          ๗.   อบายมุข คือ เหตุแห่งความฉิบหาย ๔ ประการ ที่ควรเว้น ได้แก่

                  (๑)   ความเป็นนักเลงหญิง

                  (๒)   ความเป็นนักเลงสุรา

                  (๓)   ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน

                  (๔)   การคบคนชั่วเป็นมิตร

          ๘.   ผู้ที่ปรารถนาจะสร้างตนให้เป็นปึกแผ่นมีหลักฐานมั่นคงควรตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบันซึ่งควรประพฤติ ๔ อย่าง คือ

                  (๑)   ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการกระกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิต ในการศึกษาหรือในการทำธุระหน้าที่ของตน

                  (๒)   ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายหรือรักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไป

                  (๓)   ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว

                  (๔)   เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก

          ๙.   เพื่อความไม่ประมาทในการที่จะละความชั่วประกอบความดี เราควรพิจารณาเสมอทุกๆ วันในธรรม ๕ ประการ คือ

                  (๑)   เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

                  (๒)   เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

                  (๓)   เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

                  (๔)   เราจักต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

                  (๕)   เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว

 

ตอนที่ ๓

วันสำคัญในพระพุทธศาสนา

          ๑.   วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

          ๒.   วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระศพของพระพุทธเจ้า

          ๓.   วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา และมีพระสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นในโลก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ

          ๔.   วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มหยุดยั้งการจาริกไปสั่งสอนยังที่ต่างๆ ไม่ไปค้างแรมที่อื่น รวมกันอยู่ภายในวัดตลอดไตรมาส ๓ เดือน เรียกว่าอธิษฐานจำพรรษา

          ๕.   วันปวารณาออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา มีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุทำปวารณาต่อกัน (อนุญาตแก่กันและกันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้) เพื่อป้องกันความเสียหายและแก้ความรังเกียจกันก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเผยแผ่พระศาสนา

          ๖.   วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันที่มีเหตุการณ์ อันถือเป็นมงคลสมัยเกิดขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในตอนแรกๆ สมัยนั้นพระองค์ประทับที่เวฬุวัน นครราชคฤห์ เหตุการณ์นั้นเราเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” การประชุมที่ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ

                  (๑)   ภิกษุมาประชุมนั้น จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยวิธิซึ่งเรียกว่า “เอหิภิกขุ”

                  (๒)   พระอรหันต์เหล่านั้นมาประชุมด้วยเอง มิได้มีใครนัดหมาย หรืออาราธนาเชื้อเชิญ

                  (๓)   พระอรหันต์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้มีฤทธิ์

                  (๔)   วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หรือเรียกว่ามาฆบูรณมี และในโอกาสนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ ประกาศหลักธรรมอันเป็นหัวข้อสำคัญในพระพุทธศาสนา

          ๗.   วันขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (หรือแรม ๑๔ ค่ำ สำหรับเดือนเลขคี่) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พุทธบริษัททำบุญ และฟังพระธรรมเทศนา เรียกว่าวันพระ หรือวันธรรมสวนะ

          เมื่อถึงวันดังกล่าวแล้วข้างต้น ควรที่พุทธศาสนิกชนจะบำเพ็ญกุศล มีให้ทานรักษาศีลและฟังเทศน์ เป็นต้น อย่าให้วันเช่นนั้นล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์เลย และสำหรับวันสำคัญยิ่ง ๓ วัน คือวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนควรจะไปเวียนเทียนประทักษิณตามวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันสำคัญดังกล่าวแล้วนั้น

 

 

*หมายเหตุ : รวบรวมโดย พระครูสิริธรรมวิมล (เล็ก ปวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมาภิรตาราม (สะพานสูง บางซื่อ)

bottom of page